“ชาวนา” ซวยซ้ำ “คลัง” ยอมรับ “โครงการประกันนาล่ม” อาจสะดุด เตรียมชง กกต.เดินเครื่องโครงการฯ ต่อเนื่อง คาดได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินการในเดือน ก.พ.นี้
นายลวรณ แสงสนิท รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตัวแทนจาก สศค. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และตัวแทนจากสมาคมประกันวินาศภัย กำลังเร่งสรุปแนวทางการรับประกันภัยข้าวฤดูกาลผลิตปี 2557/58 ที่จะเริ่มเพาะปลูกในเดือน พ.ค.นี้ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ เพราะหากรอรัฐบาลให้ชุดใหม่มาพิจารณา อาจเปิดขายประกันไม่ทันฤดูเพาะปลูก โดยคาดว่าจะสรุปแนวทางการประกันภัยข้าวได้ภายในเดือน ก.พ.นี้
“ส่วนกรณีซึ่งจะต้องไปหารือกับ กกต. เนื่องจากนโยบายนี้รัฐบาลต้องช่วยชาวนาออกค่าเบี้ยประกันภัยให้ในระดับหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะนโยบายทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์”
นายลวรณ กล่าวว่า ในการเปิดขายประกันรอบถัดไปนี้จะยังคงดำเนินการคล้ายกับในรอบปีที่ผ่านมา คือ กำหนดราคาเป็นโซนตามความเสี่ยงของภัย แบ่งเป็น 5 โซน มีราคาอยู่ 5 ระดับแตกต่างกันไปตามความเสี่ยง โดยคงยังไม่สามารถให้ชาวนาทำประกันภัยนาข้าวทุกแปลงทั่วประเทศ 60 ล้านไร่ อย่างที่ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รักษาการ รมช.คลัง ต้องการได้ เนื่องจากผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ ทั้งในเรื่องเกณฑ์ค่าเบี้ยประกันที่ต้องคิดตามโซน และการชดเชยสินไหมที่จะใช้ดัชนีผลผลิตเขตพื้น (Area Yield Index) เป็นตัวกำหนดแทนการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ
“ขณะนี้ยังสรุปราคาของเบี้ยประกันไม่ได้ว่าปีนี้ควรจะคิดที่เท่าใด ซึ่งเดิมทีหากยังไม่ยุบสภาฯ น่าจะเสนอ ครม.ได้ในช่วงเดือน ก.พ. เพื่อที่จะให้ ธ.ก.ส.เปิดขายได้เร็วหน่อย แต่พอเกิดยุบสภาฯ ต้องหารือไปยัง กกต.ว่าสามารถทำได้หรือไม่”
สำหรับการทำประกันภัยนาข้าวที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 1 ล้านไร่ ถือว่าน้อยมาก และไม่จูงใจให้บริษัทประกันภัยมาดำเนินธุรกิจนี้ และยังมีปัญหาในเรื่องของการคิดเบี้ยประกันภัย เพราะบริษัทประกันต้องการราคาที่สูงทำให้ชาวนาไม่ค่อยสนใจที่จะมาทำประกันภัย
โดยเบื้องต้น โครงการประกันภัยนาข้าวกำหนดราคาเบี้ยประกันไว้ต่ำสุด 120 บาทต่อไร่ สูงสุด 475 บาทต่อไร่ ชาวนาจะจ่าย 60-100 บาทต่อไร่ ที่เหลือรัฐบาลช่วยจ่ายให้ หากนาข้าวเสียหายจากภัยธรรมชาติได้รับการชดเชย 1,111 บาทต่อไร่ หากเสียหายจากแมลงศัตรูพืชได้รับการชดเชย 555 บาทต่อไร่