xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. แจงยังไม่เห็นชนวนวิกฤต หรือปัญหาสินเชื่อ เอ็นพีแอลก็ไม่น่ากังวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท. ชี้ยังไม่เห็นชนวนวิกฤต หรือปัญหาสินเชื่อ แจงหนี้เสียที่กำลังก่อตัวในสินเชื่ออุปโภคบริโภคไม่น่ากังวล เชื่อปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป เหตุสินเชื่อหดตัวต่อเนื่องมาจากปีก่อน

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และค้างชำระหนี้เกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน (SM) ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นบ้าง ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ และยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง และส่วนใหญ่หนี้เพิ่มขึ้นเกิดจากในสินเชื่อส่วนบุคคลสำคัญ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวลง และแรงกระตุ้นหมดลงของโครงการรถยนต์คันแรกของภาครัฐ จึงมองว่าหนี้เสียของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเกิดขึ้นขณะนี้จะเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นมากกว่า

นอกจากนี้ ประเด็นที่อัตราการขยายตัวสินเชื่อโดยรวมชะลอตัวลงต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปีก่อนเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ไม่ใช่เฉพาะปัญหาการเมืองอย่างเดียว ทั้งนี้ การขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของบุคคลทั่วไปขยายตัวได้ดีอยู่ 10% แม้การขอสินเชื่อประเภทนี้ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ลดลงบ้าง เพราะระยะหลังหันไปออกหุ้นกู้มากขึ้น โดยการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่างกับสินเชื่อประเภทอื่นที่ต้องสร้างบ้าน หรือคอนโดฯ ไว้ก่อนถึงจะอนุมัติสินเชื่อได้ ทำให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังดีอยู่ และเมื่อประเมินสภาพขณะนี้ และภาพรวมทั้งปียังไม่ส่อว่าจะเกิดชนวนวิกฤต หรือปัญหาแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.กำลังจับตาพิเศษในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคมากขึ้น หลังจากตัวเลขหนี้เสียเพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพสินเชื่อด้อยลงบ้าง โดยสินเชื่อประเภทต่างๆ ในหมวดสินเชื่ออุปโภคบริโภค ต่างมีสัดส่วน NPL เพิ่มขึ้น ทั้งบัตรเครดิตจากระดับ 2.6% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.8% ล่าสุด ในไตรมาส 3 ของปีนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลจาก 2.0% ขยับอยู่ที่ 2.2% สินเชื่อรถยนต์จาก 1.7% มาอยู่ที่ 2.8% ส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทรงตัวเท่าเดิมที่ 2.3%

ขณะที่ค้างชำระหนี้เกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน รถยนต์มีสัดส่วนจาก 6.8% มาอยู่ที่ 7% ในไตรมาส 3 บัตรเครดิตจาก 2.0% มาอยู่ที่ 2.1% สินเชื่อส่วนบุคคล 1.9% ขยับมาอยู่ที่ 2.0% และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มีสัดส่วนเท่ากับไตรมาส 2 และ 3 เท่ากันที่ระดับ 1.4% โดยภาระหนี้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ทำให้คนมีความระมัดระวัง ประกอบกับตัวธนาคารพาณิชย์เองก็มีการกันสำรองค่อนข้างมาก เข้มงวดในการปล่อยกู้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้เสียได้เร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น