“บสย.” คาดค้ำประกันสินเชื่อ “เอสเอ็มอี” สิ้นปีได้ตามเป้า 84,000 ล้านบาท เตรียมเปิดตัว 2 โครงการใหม่ ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร สำหรับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ และธุรกิจที่มีลูกจ้างไม่เกิน 5 ราย โดยค้ำประกันไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย ระยะเวลา 5-10 ปี และโครงการค้ำประกันสินเชื่อโอทอป และรัฐวิสาหกิจชุมชน
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ทาง บสย. จะเปิดตัว 2 โครงการใหม่ ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร สำหรับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ และธุรกิจที่มีลูกจ้างไม่เกิน 5 ราย โดยค้ำประกันไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย ระยะเวลา 5-10 ปี คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1-3 ตามความเสี่ยงของลูกค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ 1.7 ล้านราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และโครงการค้ำประกันสินเชื่อโอทอป และรัฐวิสาหกิจชุมชน
สำหรับผู้ประกอบการที่จะมาใช้บริการโครงการดังกล่าวต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ โดยค้ำประกันไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย วงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ขณะนี้มีลูกค้าโอทอป ประมาณ 30,000-40,000 ราย และวิสาหกิจชุมชน ประมาณ 70,000-80,000 ราย รวมทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ราย ภาพรวมของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมด 2.6 ล้านราย โดย บสย. มีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มภายในสินปีนี้ถ้าได้รับการอนุมัติ 2 โครงการจากมติ ครม. จะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาส 4
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ววงเงิน 55,000 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะสามารถค้ำประกันสินเชื่อได้ตามเป้าที่วางไว้วงเงิน 84,000 ล้านบาท สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ขณะนี้ ได้แก่ พีจีเอส 5 วงเงินงบประมาณ 240,000 ล้านบาท สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไป วงเงินค้ำประกันไม่เกิน 40 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี พีไอแอล วงเงินงบประมาณ 20,000 ล้านบาท สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับปรุงเครื่องจักร และกระบวนการผลิต วงเงินค้ำประกันไม่เกิน 5 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยปีแรกรัฐบาลจะชำระค่าธรรมเนียมให้ รวมถึงสตาร์ต อัพ วงเงินงบประมาณ 10,000 ล้านบาท สำหรับเอสเอ็มอีที่เริ่มกิจการใหม่ และมีอายุไม่เกิน 3 ปี วงเงินค้ำประกันไม่เกิน 2 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 2.5 ปีแรกรัฐบาลชำระให้ก่อน