xs
xsm
sm
md
lg

ครึ่งปีแรกนิคมอุตฯ โตต่อเนื่อง คอลลิเออร์สฯ ชี้ตะวันออกบูมสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลลิเออร์สฯ เผยผลวิจัยนิคมอุตสาหกรรมหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 54 เติบโตต่อเนื่อง ระบุพื้นที่ภาคตะวันออกโตมากที่สุด แจง 6 เดือนแรกเนื้อที่นิคมอุตฯ ไหลเข้าตลาดกว่า 5,800 ไร่ คาดครึ่งปีหลังจ่อพื้นที่นิคมอุตฯ ใหม่จ่อเข้าตลาดเพิ่ม 10,000 ไร่ หลัง กนอ.มีแผนเพิ่มพื้นที่นิคมฯ รองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมใหม่

นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีซัปพลายใหม่ในตลาดนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 5,800ไร่ นอกจากนี้ ยังมีอีกมากกว่า 10,000 ไร่ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และมีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงครึ่งหลังปี 56 พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่เปิดขาย/เช่า ในปีที่ผ่านมา และในช่วงครึ่งแรกปีนี้ตั้งอยู่ในภาคตะวันออก โดยเนื้อที่ในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 156,900 ไร่ จากทั้งหมดประมาณ 70 แห่งในประเทศไทย

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก และภาคกลางครอบครองสัดส่วนประมาณ 95% ของอุปทานทั้งหมด โดยที่พื้นที่มากกว่า 108,900 ไร่ หรือประมาณ 69% อยู่ในภาคตะวันออก และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคกลางในช่วงไตรมาสที่ 4 พ.ศ.2554 โดยมีนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 8,000 ไร่เพิ่มขึ้นในตลาดในปี พ.ศ.2555 และในครึ่งแรกปี พ.ศ.2556 นอกจากนี้ การนิคมอุตสาหกรรมฯ ยังมีแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้ และจังหวัดชายแดนอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 98,000 ไร่ ที่ได้รับการอนุมัติจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ทั้งของรัฐฐาล และเอกชน โดยอยู่ในภาคใต้มากที่สุดคือ มากกว่า 38,800 ไร่ ตามมาด้วยภาคตะวันออก ที่ประมาณ 21,300 ไร่ เนื่องจากว่ามีนิคมอุตสาหกรรมบริการบางแห่งในภาคใต้ที่มีขนาดใหญ่กว่า 20,000 ไร่ ขณะเดียวกัน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย

นายสุรเชษฐ ได้กล่าวว่า จากการที่ กนอ. มีแผนจะขยายพื้นที่นิคมอุตสากรรมเพิ่ม ทำให้ขณะนี้มีนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา และอาจมีการตัดสินใจเรื่องของตำแหน่ง และขนาดของนิคมอุตสาหกรรมภายในปีนี้ ทั้งนี้ กนอ.ให้ความสนใจในจังหวัดชายแดนของประเทศไทย เช่น จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรองรับโครงการนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึกทวาย อำเภอเชียงของ ในจังหวัดเชียงราย เพื่อรองรับการส่งออก-นำเข้าสินค้ากับประเทศจีน ผ่านเส้นทาง R3a และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว

“นอกจากนี้ กนอ.ยังให้ความสนใจต่อพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยเริ่มจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จังหวัดขอนแก่น และมุกดาหาร รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ อีก 5 จังหวัดตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังต้องการความร่วมมือจากเอกชนในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง” สุรเชษฐ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี อัตราการครอบครองพื้นที่เฉลี่ยในภาคกลางยังสูงที่สุด ขณะที่ภาคตะวันออก มีอัตราการคอบครองรองลงมา ทั้งนี้ แม้ว่านิคมอุตสาหกรรมใหม่ส่วนใหญ่ และพื้นที่ที่ขยายใหม่จะอยู่ในภาคตะวันออก แต่นักลงทุนจำนวนมากยังให้ความสนใจในพื้นที่นี้ ดังนั้น อัตราการครอบครองพื้นที่เฉลี่ยในครึ่งแรกปี พ.ศ.2556 สูงกว่าปีที่ผ่านมา

“มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ในปีที่ผ่านมาสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ด้วยมูลค่ามากกว่า 9.8 แสนล้านบาท แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกปี พ.ศ.2555 จะมีมูลค่าเพียงแค่ประมาณ 3.38 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่ว่ามาเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ.2555 สำหรับในครึ่งแรก พ.ศ.2556 มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าครึ่งแรกปีที่แล้วประมาณ 33% ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2556 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติจะมีมูลค่าใกล้เคียง หรือมากกว่าปีที่ผ่านมา”
กำลังโหลดความคิดเห็น