ผู้ว่าการ ธปท. เผยส่วนต่าง ดบ.แบงก์พาณิชย์ อยู่ที่ 2.4-2.5% ถือว่าอยู่ระดับกลางในอาเซียน เตือนการเปรียบเทียบส่วนต่างอัตรา ดบ.สุทธิ ต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากแต่ละประเทศมีปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้การเทียบค่าเฉลี่ยไม่สะท้อนข้อเท็จจริง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ไทย อยู่ที่ร้อยละ 2.4-2.5 ซึ่งเป็นระดับกลางใกล้เคียงกับ 5 ประเทศในอาเซียน การเปรียบเทียบส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากแต่ละประเทศมีปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้การเทียบค่าเฉลี่ยไม่สะท้อนข้อเท็จจริง
ส่วนธนาคารพาณิชย์ไทย สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ NIM จะต่ำ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 แต่ถ้าเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอี NIM จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่าสินเชื่อรายใหญ่ ส่วนสินเชื่อรายย่อย และอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกัน ดอกเบี้ยจะสูงถึงร้อยละ 18-20 ซึ่งหากเทียบกับดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยที่อยู่ร้อยละ 7-9 ก็ถือว่าสูงกว่ามาก เพราะมีความเสี่ยงที่จะเบี้ยวหนี้มากกว่า
ทั้งนี้ ต้นทุนของดอกเบี้ยมาจาก 2 ส่วน คือ ต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่ง ธปท.คาดหวังว่าการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนด้านการดำเนินงานมีระดับที่ลดลง และจะทำให้ NIM ลดลงไปด้วย ส่วนอีกด้านคือ เครดิตพรีเมียม ที่ขึ้นอยู่กับเครดิตของแต่ละผู้กู้