“กิตติรัตน์” มั่นใจ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ผ่านสภาฯ วาระ 2-3 ได้แน่นอน แต่หากจะสะดุด ก็เพราะขัด รธน. เท่านั้น ลั่นเป็น กม. ที่มีความรัดกุม และพิจารณาด้วยความรอบคอบ พร้อมแขวะกลับฝ่ายค้าน รัฐบาลชุดนี้ไม่ทำซ้ำรอยชุดก่อนที่กู้เงิน พ.ร.บ.กองทุนเข้มแข็งเอามากองไว้ก่อนเต็มจำนวน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... วงเงิน 2 ล้านล้าน ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และ 3 ในสัปดาห์นี้ว่า ตนมีความมั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะสามารถผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ในการพิจารณาอีก 2 วาระที่เหลือได้
สำหรับที่เป็นห่วงกันว่า ในการอภิปรายที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านได้สงวนคำแปรญัติในการอภิปรายไว้มากกว่า 100 คน รัฐบาลก็จะเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายอย่างเต็มที่ รวมทั้งหากกฎหมายฉบับนี้จะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ รัฐบาลก็พร้อมจะไปชี้แจงเช่นกันเพราะมั่นใจว่าได้มีการทำทุกอย่างตามขั้นตอน และมีการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว
ทั้งนี้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านได้ยึดกรอบในการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยกระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วว่าการกู้เงินในจำนวนนี้จะไม่ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงเกิน 50% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่ากรอบหนี้สาธารณะที่เป็นกรอบวินัยทางการเงินการคลังอยู่ที่ 60% ของจีดีพี
นอกจากนี้ ในการกู้เงินแต่ละโครงการก็ต้องมีขั้นตอน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากลั่นกรองโครงการ รวมทั้งต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจึงจะมีการกู้เงินได้ ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นการกู้เงินครบทั้งจำนวนมากองไว้เหมือนกับการกู้เงินในอดีต เช่นการกู้เงิน พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งที่กู้เงินมาก่อนครบทั้งจำนวน
นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า ตนเองในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นผู้นำเสนอกฎหมายฉบับนี้ ผมยังมองไม่เห็นเหตุผลที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่ผ่านความเห็นชอบ เนื่องจากในการพิจารณาวาระที่ 1 และในชั้นกรรมาธิการก็มีการชี้แจงกันแล้วว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีความรัดกุม
นอกจากนี้ ยังกล่าวย้ำว่าในแต่ละโครงการฯ จะมีขั้นตอนของการกลั่นกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีการกู้เงิน ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องมีการพิสูจน์ได้ว่าโครงการนั้นๆ มีความคุ้มค่าถึงจะมีการกู้เงิน จึงไม่ได้มีการกู้เงินจำนวนมากองไว้เหมือนที่มีบางฝ่ายพยายามสร้างความเข้าใจที่ผิด
เมื่อสื่อมวลชนซักถามว่า หากมีอุบัติเหตุ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบรัฐบาลจะมีทางออกอย่างไร นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้สถานะของกฎหมายเป็น พ.ร.บ. ซึ่งก็เทียบเท่ากฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น กฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้น เหตุผลเดียวที่กฎหมายนี้จะสะดุดก็คือ ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น
“ถ้าไม่ผ่านก็คิดว่ายังมีทางออกอื่นๆ อย่างไรประเทศนี้ก็ทีทางออกเสมอแต่ถ้าไม่ผ่านก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และจะส่งผลต่อการบริหารเศรษฐกิจมหภาคเนื่องจากอะไรที่ช้าไป หรือน้อยไปก็มีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจภายนอกยังเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่การลงทุนภายในประเทศที่จะเกิดขึ้นฝ่ายต่างๆ น่าจะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดขึ้นได้ และเศรษฐกิจของประเทศจะไม่ชะลอตัวแน่นอนถ้าการลงทุนเป็นไปตามแผนที่วางไว้”
ทั้งนี้ ตนเองมองว่าเรื่องบางเรื่องที่เห็นอยู่ว่ามีความจำเป็นต้องลงทุน เช่น รถไฟตกรางบ่อยในช่วงนี้ ก็เห็นแล้วว่าเป็นเพราะใช้งานมานานก็ต้องลงทุน ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น ผมอยากให้แยกเรื่องการเมืองกับเศรษฐกิ เรื่องใดที่น่าจะร่วมมือกันได้ก็อยากให้มีความร่วมมือเกิดขึ้น อย่าให้ผมใช้คำว่ามือไม่พายเอาเท้าราน้ำเลย