หุ้น “คอมมูนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น” เข้าเทรดวันแรกไม่รอด ปิดต่ำกว่าจอง 88 สตางค์ แม้ช่วงเช้ายืนเหนือจองได้ และปิดที่ 2.12 บาท ลดลง 0.88 บาทหรือ 29.33% ขณะที่ตลาดหุ้นกระดานแดงเถือก ดัชนีลดลงเกือบ 9 จุด ผู้บริหารยันปีนี้โต 15% เผยอยู่แผนรุกตลาดกลุ่มอาเซียน เตรียมลุยประมูลงานต่อเนื่อง คาดได้ข้อสรุปปี 57
วานนี้ หลักทรัพย์ของ บริษัท คอมมูนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น หรือ CSS ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดที่ระดับ 3.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ 6.67% จากราคา IPO ที่ 3 บาท/หุ้น และเมื่อปิดตลาด ราคาหุ้นอยู่ที่ 2.12 บาท ลดลง 0.88 บาท หรือ 29.33% ระหว่างวันปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 3.24 บาท และต่ำสุดที่ 2.04 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,146.24 ล้านบาท ขณะที่กระดานหุ้นแดงเถือก ดัชนีลดลง 8.29 จุด
นายสมพงษ์ กังสวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคอมมูนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น หรือ CSS กล่าวว่า พอใจในราคาหุ้นที่เปิดตลาดมาในวันซื้อขายวันแรกนี้ เพราะมีนักลงทุนให้ความสนใจ และมีความเชื่อมั่นในธุรกิจของบริษัทฯ ว่า แนวโน้มจะมีอนาคตที่ดี เพราะธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสายไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งเติบโตตามธุรกิจอสังหาฯ และก่อสร้าง และอีก 22% มาจากการให้บริการติดตั้งเสาโทรคมนาคมซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงมากโดย 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมือถือค่ายต่างๆ ได้วางแผนเร่งขยายการลงทุน 3G เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีความมั่นคงสูง ตลอดถึงมีอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้ระบบโครงข่ายทั้งไฟฟ้า และและระบบส่งสัญญาณการสื่อสารเพิ่มมากขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตมากกว่า 15% และมีแผนในการขยายธุรกิจการลงทุนตั้งเสาโทรคมนาคมในพม่า และวางแผนที่จะยื่นประมูลงานระบบ 4G ของบริษัท ZTE ของประเทศลาว มูลค่างานประมาณ 50 ล้านบาทในปีหน้า
ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโทรคมนาคมภายในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจจำหน่ายสายไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจโทรคมนาคมที่บริษัทฯ เป็นผู้ติดตั้งระบบโทรคมนาคม ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมีการเข้าประมูลงานอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจโทรคมนาคมมีมาร์จิ้นที่สูงกว่าธุรกิจเทรดดิ้ง โดยมีมาร์จิ้นราว 30% ส่วนธุรกิจเทรดดิ้ง มีมาร์จิ้นราว 10%
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างอยู่ในช่วงของการแผนงานในเพื่อรุกตลาดกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะในพม่า ซึ่งตอนนี้มีบริษัทโทรคมนาคมเอกชน 2 รายใหญ่ คือ บริษัทเทเลนอร์ และกาตาร์ เทเลโฟน ที่ได้งานจากรัฐบาลพม่า โดยจะมีการลงทุนในระบบการสื่อสารมูลค่ารวมประมาณ 1.05 แสนล้านบาท และบริษัทก็ได้รับเชิญให้เข้าไปร่วมประมูลงานในส่วนของการตั้งเสา ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาด้านมูลค่าการลงทุน และข้อกฎหมาย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีหน้า