โพสต์กันสนั่น!! ลูกบ้านชาวต่างชาติโวย คอนโด the Base 77 ทุบกำแพงเพื่อซ่อมน้ำรั่วซึมแต่กลับเจอโฟม และกระดาษอยู่ด้านในกำแพง ขณะที่ผู้บริหารแสนสิริฯ “อุทัย อุทัยแสงสุข” ยันมีเพียงห้องเดียวที่เกิดปัญหา เร่งสอบบริษัท RTH ผู้รับเหมาก่อสร้าง หลังจ้างรับเหมารายย่อยดำเนินการแทน ยอมรับไม่ใช่เป็นโฟมสำหรับงานก่อสร้าง คาดขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมา ขณะที่แสนสิริฯ ออกแถลงการณ์ยาว 2 หน้า พร้อมน้อมรับข้อตำหนิ ชี้ความบกพร่องมาจากช่างและการควบคุมงานก่อสร้าง พร้อมส่งทีมพิเศษตรวจสอบทุกห้องที่ผู้รับเหมารับผิดชอบ และตรวจสอบโครงสร้างอาคาร เตรียมโพสต์วิดีโอทดสอบความหนาแน่นและมวลผนังก่ออิฐฉาบปูน วันที่ 4 ก.ย.ผ่าน www.sansiri.com/announcement ด้าน วสท.ชี้พบจุดใดจุดที่ใช้โฟมอาจเป็นความบกพร่องของการทำงาน พร้อมแนะผู้อยู่อาศัยปรึกษาวิศวกร และเจ้าของโครงการให้ตรวจสอบอีกครั้ง “ต่อตระกูล” ชี้ผนังโฟมไม่ปลอดภัย แนะเอาผิดเจ้าของ-สถาปนิกผู้ออกแบบ
โครงการคอนโดมิเนียมในเมือง ถือได้ว่ามีอัตราการเติบโต และมีการลงทุนผ่านผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะครองส่วนแบ่งตลาดในการลงทุน และเปิดโครงการคอนโดมิเนียมมากที่สุด ขณะที่การแข่งขันในตลาดจะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการคอนโดฯ เกาะแนวรถไฟฟ้าทั้งที่เปิดให้บริการ และสายต่อเนื่องที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปริมาณห้องชุดได้ออกสู่ตลาดอย่างมาก ยังไม่นับรวมสต๊อกใหม่ที่จะทะลักเข้าสู่ระบบ แต่เรื่องของการขาดแคลนแรงงาน ก็กำลังกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับวิธีการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หนึ่งในนั้นคือ ผนังสำเร็จรูป ที่เริ่มมาปรับให้เข้ากับโครงการคอนโดมิเนียมจากเดิมที่จะเน้นตลาดโครงการแนวราบเป็นหลัก
ลูกค้าแสนสิริโพสต์ทุบกำแพงเจอโฟม กระดาษ!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ได้มีการโพสต์ข้อความ และภาพของลูกค้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ โดย นาย Kristopher George Houston โพสต์ภาพพร้อมข้อความไปยังเฟซบุ๊กของ Sansiri Family เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา กรณีที่ Kristopherได้ทำการซ่อมแซมคอนโด the Base 77 ที่ตนเองอยู่อาศัยเนื่องจากเกิดน้ำรั่วซึมบริเวณห้องมุม โดยน้ำรั่วจากมุมกระจก โดยทาง home care ได้เข้ามาแก้ไข 3 ครั้งด้วยการยิงซิลิโคน แต่น้ำยังรั่ว จึงได้ให้ช่างอะลูมิเนียมอีกบริษัทหนึ่ง มาทุบผนังเพื่อดูว่ามีซิลิโคนหรือไม่ แต่พบโฟมก้อนใหญ่กับเศษกระดาษสีน้ำตาล ซึ่งขณะนั้นทางช่างของ RTH อยู่ด้วย โดยช่างได้ให้นำโฟมออก พร้อมกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ผิดวิธีคาดว่าคนที่ทำอาจจะต้องการรีบทำให้เสร็จแต่ไม่มีซีเมนต์ที่จะใช้อุดรูให้จึงนำเศษกระดาษ และโฟมมาอุดรู ขณะนี้ทั้ง 2 จุด ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วน้ำไม่รั่ว แต่ขณะนี้พบรอยน้ำรั่วอีกจุดบริเวณห้องนอนที่ยังรั่ว ซึ่งรั่วตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่าน ซึ่งช่างกำลังแก้ไขด้วยการฉีดซิลิโคนข้างนอก 5-6 รอบ และทุบข้างในนิดหน่อย แต่ยังไม่พบโฟม และน้ำยังรั่วซึมอยู่
บิ๊กแสนสิริฯ เร่งสอบผู้รับเหมา
นายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้เข้าไปตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือทดสอบแล้วพบว่า มีเพียงห้องเดียวที่เกิดปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทราบว่า บริษัท RTH เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้มีการว่าจ้าง บริษัทรับเหมารายย่อย ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงเข้ามาดำเนินการก่อสร้างอีกต่อ ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบจะเป็นการสะเพร่าของผู้รับเหมาหรือไม่ เพราะโฟมดังกล่าวไม่ใช่เป็นโฟมสำหรับงานก่อสร้าง และอาจจะมีการขึ้นบัญชีดำ หรือแบล็กลิสต์
ออกแถลงการณ์น้อมรับข้อตำหนิ
ล่าสุด ได้มีแถลงการณ์จากบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีเนื้อหามีความยาว 2 หน้ากระดาษ A4 ที่ สส. 0830/2556 วันที่ 30 สิงหาคม 2556 ผู้ชี้แจง คือ นายองอาจ สุวรรณกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการแนวสูง 3 เรียนถึงท่านเจ้าของห้องชุดโครงการ เดอะเบส สุขุมวิท 77 และทุกท่าน
เรื่อง รายงานความคืบหน้าเรื่องความบกพร่องของคุณภาพงานผนังก่ออิฐฉาบปูนภายในห้องชุด
ตามที่ฝ่ายบริหารงานก่อสร้างได้รับข้อร้องจากท่านเจ้าของห้องชุดภายในโครงการ เดอะเบส สุขุมวิท 77 จำนวน 1 ห้องชุด เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2556 เรื่องคุณภาพงานผนังก่ออิฐฉาบปูนภายในห้องชุดไม่ได้มาตรฐานงานก่อสร้าง ทางบริษัทฯ ได้มอบหมายทีมงาน Sansiri Homecare เข้าตรวจสอบและแก้ไขงานผนังภายในห้องชุดดังกล่าว รวมถึงได้จัดประชุมร่วมระหว่างฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง ทีมควบคุมงานก่อสร้าง และผู้รับเหมาหลัก (RTH) โดยทันทีเพื่อตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานงานก่อสร้างดังกล่าว
ข้อเท็จจริง : งานผนังห้องชุดเป็นงานในกลุ่มงานสถาปัตยกรรม (Architecture) ซึ่งไม่มีผลกระทบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารแต่อย่างใด โดยรูปแบบของผนังภายในห้องชุดของโครงการ เดอะ เบส สุขุมวิท 77 นั้น ทางบริษัทฯ ได้พิจารณา และกำหนดรูปแบบงานผนังโดยมีการใช้ผนังหล่อสำเร็จจากโรงงาน (Pre-cast) ประมาณร้อยละ 98 ของงานผนังทั้งหมด เพื่อป้องกัน และลดความบกพร่องอันอาจจะเกิดขึ้นจากคุณภาพ ความชำนาญ และฝีมือแรงงานของงานก่อฉาบทั่วไปซึ่งผนังสำเร็จรูปทั้งหมดที่ผลิตจากโรงงานจะมีการควบคุมความหนาแน่น ความชื้น และความแข็งแรงของงานผนังตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และมีงานผนังแบบก่ออิฐฉาบปูน (Conventional Wall) ประมาณร้อยละ 2 ของงานผนังทั้งหมด
รายละเอียดการตรวจสอบเบื้องต้น : บริษัทฯ ได้จัดทีมวิศวกรเข้าดำเนินการตรวจสอบแล้ว โดยมีรายละเอียดการตรวจสอบดังนี้
1.จากการตรวจสอบพบว่า มีการใช้วัสดุโฟมอุดช่องผนังขนาด 30X20 ซม. บริเวณมุมผนังบนชุดวงกบกรอบอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นงานผนังก่ออิฐฉาบปูน (Conventional Wall) และวัสดุโฟมดังกล่าวเป็นวัสดุที่ไม่ถูกต้องตรงกับมาตรฐานงานก่อสร้างงานผนังก่ออิฐฉาบปูนซึ่งส่งผลให้เกิดการรั่วซึมของน้ำจากภายนอกอาคาร
สาเหตุของความบกพร่องดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากช่างก่ออิฐฉาบปูน และการควบคุมงานก่อสร้างโดยมีการใช้วัสดุโฟมในการปิดช่องผนังแทนในบริเวณดังกล่าวแทนที่จะเป็นงานปูน ซึ่งทางบริษัทฯ เรียนขออภัย และขอน้อมรับข้อตำหนิดังกล่าว โดยได้เร่งดำเนินการ และสั่งการแก้ไขงานภายในห้องชุดดังกล่าวโดยทันที และได้สั่งการให้บริษัทฯ ผู้รับเหมาหลักสอบสวนและตรวจสอบรวมถึงชี้แจงข้อปัญหาและข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมแนวทางแก้ไขและป้องกัน รวมไปถึงบทลงโทษ (นำเรียนให้ทราบต่อไป)
2.ตรวจสอบพบว่ามีเศษวัสดุโฟมบริเวณรอบชุดเต้ารับไฟฟ้าของผนังสำเร็จรูปบริเวณใต้หน้าต่างอะลูมิเนียม จำนวน 1 จุด จากการตรวจสอบแล้วพบว่าวัสดุโฟมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการขึ้นชิ้นงานผนังสำเร็จรูป ใช้โฟมเป็นตัวเว้นช่องที่ใช้สำหรับเว้นตำแหน่งปลั๊กไฟตอนหล่อคอนกรีตเท่านั้น ซึ่งเศษวัสดุโฟมที่ตกค้างอยู่ภายหลังจากที่มีการติดตั้งชุดเต้ารับไฟฟ้าไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อความแข็งแรงของชิ้นผนัง และไม่มีผลกระทบเกี่ยวกับการรั่วซึมของน้ำจากภายนอกอาคาร จำนวนที่พบความบกพร่อง: จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบความบกพร่องดังกล่าวมี จำนวน 1 ห้องชุด
ส่งทีมพิเศษตรวจสอบทุกห้อง-โครงสร้างอาคาร
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนการดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้
1.จัดทีมตรวจสอบงานผนังก่ออิฐฉาบปูนทุกผนังภายในโครงการ: เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและให้ความมั่นใจในคุณภาพงานก่อสร้าง และความเชื่อมั่น ทางบริษัทฯ ได้วางแผนให้มีการจัดทีมงานพิเศษเพื่อเข้าตรวจสอบทุกห้องชุดที่ช่างงานก่ออิฐฉาบปูนชุดดังกล่าวรับผิดชอบ และจัดทีมเข้าตรวจสอบห้องชุดทุกห้อง โดยจัดอุปกรณ์พิเศษเพื่อตรวจสอบความหนาแน่นของมวลผนังก่ออิฐฉาบปูน (ชื่ออุปกรณ์ Rebound Hammer : http://eng.swu.ac.th/research/articles/54_02/No.6.pdf)
ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ จะจัดให้มีการสาธิตถึงวิธีการทดสอบอุปกรณ์ตรวจความหนาแน่น และมวลผนังก่ออิฐฉาบปูนโดยจะโพสต์ VDO ภายในวันที่ 4 กันยายน 2556 ผ่านช่องทาง www.sansiri.com/announcement โดยการทดสอบจะดำเนินการทดสอบบนชุดคอนกรีตหล่อ และชุดคอนกรีตหล่อที่มีวัสดุแปลกปลอม วิธีการทดสอบจะใช้เครื่องตรวจจับ และแสดงความแข็งแรงและความหนาแน่นของผิวผนัง
2.จัดทีมตรวจสอบโครงสร้างและความแข็งแรงของอาคาร : บริษัทฯ จะจัดแผนงานตรวจสอบโครงสร้างอาคารโดยหน่วยงานชำนาญการจากภายนอกองค์กร (หน่วยงานและรายงานผลการดำเนินการจะเรียนให้ทราบต่อไป) เพื่อเป็นการยืนยันในความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยของอาคาร และเพื่อให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพงานโครงสร้างในการพักอาศัยภายในโครงการ
ระยะเวลาดำเนินการ : เริ่มต้น 5 กันยายน 2556 จนกว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการ
ทั้งนี้ ช่องทางการสอบถาม และนัดหมาย : ติดต่อผ่าน Sansiri Call Centre 0-2201-3999 (09.00-18.00 น.) หรือแจ้งความจำนงผ่านเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ประจำโครงการ โดยทางบริษัทฯ จะนำเรียนความคืบหน้า และรายงานผลให้ท่านทราบตามระยะต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น
วสท.แนะปรึกษาวิศวกรตรวจสอบอีกครั้ง
นายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. กล่าวว่า การใช้โฟมในบางจุดของอาคารก็มีประโยชน์ แต่การใช้โฟมในอาคารที่พักอาศัยต้องมุ่งประเด็นว่าเป็นการออกแบบการใช้โฟมทั้งแผง แต่การใช้โฟมล้วนๆ เป็นไปไม่ได้ เพราะความแข็งแรงด้านข้างรับได้น้อยมาก แม้แต่จะไม่ได้ใช้ผนังในการรับแรงก็ตาม หากต้องการใช้โฟมเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนต้องมีการออกแบบที่ถูกต้อง ต้องประกบด้วยอิฐก่อ หรืออย่างน้อยมีการฉาบปูนปิดไม่ใช่ใช้โฟมเป็นตัวหลัก
“วสท.แนะนำให้เจ้าของอาคารห้องพักตรวจดูว่าบริเวณที่พบโฟม หากพบในผนังอาจเป็นเรื่องที่ผิดปกติสำหรับผู้พักอาศัย แต่ผนังไม่ใช่ส่วนที่รับแรง เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งตกใจ หรือไม่สบายใจว่าต่อไปโครงสร้างอาจจะพังทลาย เพราะผนังอาคารโครงสร้างทั่วไปตัวรับแรงจริง โครงสร้างหลัก คือ พื้น คาน เสา ซึ่งปัจจุบันอาคารส่วนใหญ่จะไม่มีคาน แต่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ คือ พื้นเสาถ่ายลงน้ำหนักไปยังทางลาดเลย ตัวผนังจึงไม่ใช่ตัวรับแรงไม่เหมือนผนังอิฐก่อในอดีต เพราะฉะนั้น ผนังอาจเป็นอิฐมวลเบา อิฐก่อ หรือผนังอิฐก่อ 2 ชั้นซ้อนตรงกลางแทรงด้วยโฟม แต่ไม่ใช่โฟมทั้งแผง แต่กรณีที่การก่อสร้างไม่ใช่โฟมทั้งแผงแต่พบจุดใดจุดหนึ่งอาจจะเป็นความบกพร่องจากการทำงาน”
“ต่อตระกูล” ชี้ผนังโฟมไม่ปลอดภัย
แนะเอาผิดเจ้าของ-สถาปนิกผู้ออกแบบ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการก่อสร้างได้วัสดุทดแทนเพื่อก่อสร้างผนังแทนพนังการก่ออิฐ ฉาบปูน หรืออิฐมวลเบา เพื่อลดการใช้แรงงาน โดยผนังทำนำมาใช้ทดแทน เช่น ผนังโฟมซึ่งจะต้องมีโครงเหล็กฉากด้านในเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ส่วนผนังที่ทำด้วยแผ่นยิปซัม สมาร์ทบอร์ดนั้น ผนังเหล่านี้จะไม่ทนต่อแรงกระแทก จึงไม่เหมาะที่จะนำมาติดผนังอาคารด้านนอกเพราะหากมีการกระแทกรุนแรงอาจหลุดออกนอกตัวอาคารได้
ส่วนผนังที่นำโฟมก้อนมาติดไว้ด้านในนั้นยังไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งการนำโฟมก้อนมาไว้ด้านในของผนัง และปิดทับด้วยสมาร์ทบอร์ด หรือวัสดุอื่นๆ แทนการปิดทับด้วยคอนกรีต ผนังนั้นจะไม่แข็งแรง และเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย เช่น ทะเลากันแล้วกระโดดถีบผนัง มีของกระแทกแรงๆ
อย่างไรก็ตาม ในไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับว่าไม่ควรใช้ผนังแบบใดในการก่อสร้างอาคาร แต่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของเจ้าของอาคารว่าจะใช้ผนังแบบใด หากไม่ตรงตามสเปกในสัญญาผู้ซื้อสามารถเอาผิดกับเจ้าของโครงการได้ หรือสถาปนิกผู้ควบคุมงาน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาคาร
“หลังจากที่ภาคก่อสร้างแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้ภาคการก่อสร้างคิดหาวิธีในการนำวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปเข้ามาช่วยให้การก่อสร้างเร็วขึ้น ลดการใช้แรงงาน ทำให้มีผนังรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจังว่าผนังแบบใดที่มีความแข็งแรงทนทานเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นผนังคอนกรีตสำเร็จรูปก็ตาม ยังอันตราย เพราะแม้ว่าจะแข็งแรงต่อการเชื่อมต่อระหว่างชิ้นงานอาจมีปัญหาหากเชื่อมต่อไม่ดี หรือใช้งานไปนานๆ แล้วเกิดสนิม”