อดีตขุนคลัง “ทนง พิทยะ” ชำแหละโครงสร้าง ศก.ไทย เติบโตต่ำ แต่รัฐกลับทำแต่นโยบาย “ซูเปอร์ประชานิยม” เพียงอย่างเดียว พร้อมระบุปัญหาด้าน ศก.ที่กำลังเกิดขึ้น เรียกว่าแบบ 4 ต่ำ ซึ่งต่างจากในอดีต แสดงให้เห็นว่ามีความผิดพลาดในเชิงโครงสร้าง ศก. แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข กลไกระบบไม่ทำงาน ระบุว่างงานต่ำ ดบ.ต่ำ และเงินเฟ้อต่ำ ไม่สามารถกระตุ้น ศก.ได้
นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการที่กระทรวงคลังมีการวิจัยความเสี่ยงทางการคลังนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และยังมีปัจจัยหลายด้านที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องพยายามสร้างสิ่งที่เป็นสัญญาณเตือน โดยต้องรู้ว่าความเสี่ยงเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องหาทางแก้อย่างไร และเป็นความเสี่ยงที่รับได้หรือไม่ แต่ถ้าทำแล้วเกิดผลประโยชน์ในภาพรวมก็ถือว่ายอมรับได้ในความเสี่ยง
โดยปัจจุบัน ประเทศไทยไม่เหมือนกับในอดีต เพราะที่ผ่านมาได้มีการเกิดวิกฤตที่เรียกว่า 4 สูง คือ กู้ยืมเงินสูง หนี้ต่างประเทศสูง การใช้จ่ายสูง และเศรษฐกิจเติบโตสูง ซึ่งตอนนี้ได้ตรงกันข้ามเป็นแบบที่เรียกว่า 4 ต่ำ
“เศรษฐกิจไทยตอนนี้มีความเสี่ยงจาก 4 ปัจจัย คือ การว่างงานต่ำไม่ถึง 1% ดอกเบี้ยต่ำ เงินเฟ้อต่ำไม่ถึง 2% และเศรษฐกิจขยายตัวต่ำแค่ 4% ต่อปี แสดงให้เห็นว่ามีความผิดพลาดในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข เพราะการว่างงานต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ และเงินเฟ้อต่ำเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูง”
ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้น้อย รัฐบาลก็ทำแต่นโยบาย “ซูเปอร์ประชานิยม” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่เป็นเรื่องที่ผิดเพี้ยนมีการรับจำนำสินค้าในราคาที่สูงกว่าตลาด เป็นโครงการที่ไม่ควรเกิด เป็นภาระการคลังสูง และไม่สร้างประโยชน์เศรษฐกิจในระยะยาว
เช่นเดียวกับการลงทุนโครงการระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะเป็นความเสี่ยงการคลังในอนาคต เพราะผู้รับเหมาอาจทำไม่ได้ตามเงื่อนไขสัญญาที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 7 ปี ทำให้รัฐบาลเสียเงินเปล่า และไม่ได้ของ ซึ่งเรื่องอย่างนี้เคยเกิดขึ้นในอดีตที่รัฐบาลจ้างบริษัทสหรัฐฯ ต่อเรือ (ของกรมเจ้าท่า) ซึ่งบริษัททำให้ไม่ได้ตามสัญญา และบริษัทแจ้งล้มละลายทำให้ประเทศเสียหายมาแล้ว
นอกจากนี้ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลนั้น นายทนง ระบุว่า ในเรื่องของวินัยการเงินการคลังเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เป็นการออกกฎหมายผูกมัดให้กระทรวงการคลังกู้เงิน ทั้งที่โครงการต่างๆ ยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้เลย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นภาระการคลังทำให้นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้
ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตมี 3 ด้าน คือ 1.การไม่ปรับโครงสร้างการผลิต การไม่พัฒนาคนและสินค้า เพราะการใช้นโยบายทางการเงินการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตโดยที่ไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จะไม่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระยะยาว
ด้านที่ 2 ความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะที่สูง และการไม่เก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคลังควรมีแผนเรื่องนี้ที่ชัดเจน เช่น เมื่อหนี้สาธารณะเพิ่มไปถึง 45% ก็ต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นภาษี หรือเก็บภาษีตัวใหม่ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่าย และการลดหนี้ให้น้อยลง
สำหรับด้านที่ 3 เป็นความเสี่ยงเรื่องการบริหารจัดการทางการคลังที่ดี เช่น โครงการลงทุนควรต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ และคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญทางวินัยการคลังอย่างมาก เพราะการใช้จ่ายที่ไม่มีวินัยการคลัง จะทำให้มีปัญหาตามมาอีกมาก ทั้งเงินไม่พอก่อสร้าง มีความล่าช้า เกิดการทุจริต โครงการที่ได้มามีการดำเนินการขาดทุน