ตามคาด! บอร์ด กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ ระบุภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 9 และ 10 กรกฎาคม 2556 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
เศรษฐกิจโลกโดยรวมขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของเศรษฐกิจเอเชีย ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับดีขึ้นบ้าง จากภาคที่อยู่อาศัย และการจ้างงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรเริ่มทรงตัว ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวดีขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงจากทั้งอุปสงค์ในประเทศ และการส่งออก ส่วนหนึ่งเพราะครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น และนโยบายกระตุ้นภาครัฐที่ทยอยหมดลง การส่งออกชะลอลงจากทั้งปัญหาด้านอุปทานภายในประเทศ และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว อุปสงค์ทั้งใน และต่างประเทศที่ชะลอตัวลงส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนบางส่วนล่าช้าออกไป สำหรับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่ำลงจากอุปสงค์ภายในประเทศ และต้นทุนการผลิตที่ลดลง
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพักฐานหลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้าจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ จึงน่าจะกลับมาขยายตัวในระดับปกติในระยะต่อไป เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศ เช่น การจ้างงาน และรายได้ของประชาชนยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับนโยบายการเงินการคลังที่ยังผ่อนคลาย สะท้อนจากการขยายตัวของสินเชื่อ และการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจ และการเงินโลกกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อไป