หุ้นไทยปิดลบ 10.24 จุด อยู่ที่ระดับ 1,578.95 จุด มูลค่าการซื้อขายกว่า 43,910.49 ล้านบาท นักลงทุนยังกังวลข่าวลือการปลดผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย อาจกระทบเศรษฐกิจและการลงทุนในทุกกลุ่มธุรกิจ
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (3 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 1,578.95 จุด ปรับตัวลดลง 10.24 จุด หรือ 0.64% มูลค่าการซื้อขาย 43,910.49 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 1,598.93 จุด และลดลงต่ำสุดที่ 1,577.40 จุด
หลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้น 207 หลักทรัพย์ ลดลง 443 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 121 หลักทรัพย์
การซื้อขายสุทธิแยกตามกลุ่มนักลงทุนพบว่า นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 2,124.80 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสุทธิ 4.89 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 151.86 ล้านบาท และสถาบันในประเทศขายสุทธิ 1,977.83 ล้านบาท
หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
JAS ปิดที่ 7.90 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 5.95% มูลค่าการซื้อขาย 2,342,055 ล้านบาท
CPALL ปิดที่ 41.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,053,147 ล้านบาท
BTS ปิดที่ 8.55 บาท ลดลง 0.30หรือ 3.39% มูลค่าการซื้อขาย 1,918,462 ล้านบาท
INTUCH ปิดที่ 86.25 บาท ลดลง 1.25 บาท หรือ 1.45% มูลค่าการซื้อขาย 1,639,574 ล้านบาท
DEMCO ปิดที่ 17.10 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ 1.16% มูลค่าการซื้อขาย 1,534,058 ล้านบาท
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส (ASP) กล่าวว่า จากการประชุมของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา สรุปว่า ECB ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.50% พร้อมกับส่งสัญญาณว่าอาจจะใช้มาตรการการเงินผ่อนคลายอีกหากมีความจำเป็นต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2557 ประกอบกับการคาดการณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm Payrolls) เดือน เม.ย. ที่จะประกาศในค่ำคืนนี้ไม่น่าจะแตกต่างจากปัจจุบัน นักวิเคราะห์บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 145,000 ตำแหน่ง โดยจะทำให้อัตราการว่างงานยังคงยืนอยู่ที่ 7.6% ซึ่งยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ 6.5% ซึ่งทำให้ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจจะเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 8.5 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็ทำให้ตลาดหุ้นโลกกลับมามีความคึกคัก
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามผลการประชุม กนง. ในวันที่ 29 พ.ค. ว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ตามเดิมหรือไม่ แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้างแล้วก็ตาม แต่โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยจากฝั่งยุโรป และสหรัฐฯ ที่ใช้มาตรการ QE อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อย 0.25-0.50% จากปัจจุบันที่ 2.75% ซึ่งหากเป็นตามนั้นก็จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นการลงทุน ในตลาดหุ้นไทยระยะสั้น โดยเชื่อว่าน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในประเทศอย่างน้อย 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค (CPALL, BIGC, MAKRO, HMRPO) และกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ 1.กลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ (ASK, GL, TK, THANI) ที่ได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยมากที่สุดระหว่างรายได้ ดอกเบี้ยรับที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่กับต้นทุนหนี้สิน และเงินกู้ยืมที่เป็นอัตราลอยตัว 2.กลุ่มสินเชื่อเพื่อการบริโภครายย่อย (AEONTS, SINGER) ที่การลดดอกเบี้ยจะไปช่วยกระตุ้นการบริโภค และ 3.กลุ่มสินเชื่อแฟกเตอริ่ง IFS ที่มีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการของสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ส่วนปัจจัยลบยังคงเป็นผลต่อเนื่องจากข่าวลือการประเด็นความขัดแย้งระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ทำให้นักลงทุนกังวล จึงเทขายหุ้นออกมาบางส่วน