xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” แนะผ่าทางตัน “เม็ดเงิน” ทะลักเข้าไทย ลงทุนในโครงการลงทุนระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คลัง” แนะผ่าทางตัน “เม็ดเงิน” ทะลักเข้าไทย ต้องใช้โอกาสนี้นำเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในโครงการลงทุนระยะยาว พร้อมนำเข้าสินค้าทุนช่วงบาทแข็ง และเร่งใช้หนี้ต่างประเทศเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท ย้ำหาก ธปท. ยังแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง อาจประสบปัญหาขาดทุนไม่มีจุดจบ เพราะกระทรวงการคลังมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีช่องว่างให้ปรับลดลงได้อีกเพื่อลดแรงเงินทุนไหลเข้า อีกทั้งมองว่า สุดท้ายคงต้องออกมาตรการมาควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน แต่ยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาเงินไหลเข้า และค่าเงินบาทผันผวน โดยระบุว่า ควรใช้โอกาสนี้นำเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในโครงการลงทุนระยะยาว เพราะเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว เงินทุนเหล่านี้จะไหลกลับไปหาผลตอบแทนยังประเทศของตัวเอง

ขณะเดียวกัน อีกด้านได้พยายามส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจนำเข้าสินค้าทุนในช่วงเงินบาทแข็งค่า หรือบริษัทเอกชน นักลงทุนรายย่อย ได้ทยอยนำเงินทุนออกไปชำระหนี้ ออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เพื่อลดแรงกดดันจากเงินต่างประเทศไหลเข้ามา ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนให้เอกชนไทยไปลงทุนต่างประเทศ ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำ และต้องกลับมาดูว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศน้อย เช่น การนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีแนวทางผ่อนปรนให้มีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าภาษีเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพื่อนำผลตอบแทนกลับเข้ามาในประเทศ ทำให้ภาคเอกชนเสียภาษีซ้ำซ้อน คาดว่าจะออกมาตรการได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และมองว่าหาก ธปท. ยังแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง อาจประสบปัญหาขาดทุนไม่มีจุดจบ เพราะกระทรวงการคลังยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีช่องว่างให้ปรับลดลงได้อีกเพื่อลดแรงเงินทุนไหลเข้า อีกทั้งมองว่าสุดท้ายคงต้องออกมาตรการมาควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน แต่ยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้

สำหรับกระทรวงการคลัง ได้มีการพิจารณา และกำหนดแนวทางเพื่อส่งเสริมให้เอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ โดยขณะนี้ สศค.ร่วมกับกรมสรรพกร ได้ทำการศึกษาถึงอุปสรรคด้านภาษีที่เอกชนเสนอมาว่ามีอะไรบ้าง และต้องมาพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ถ้าจะลดภาษีลงอีก

ดังนั้น ถ้าพิจารณาแล้วไม่เพียงพอก็จะใช้เวลา 3 เดือน ในการพิจารณา และเสนอต่อภาครัฐ เนื่องด้วยปัจจุบัน ได้มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงแล้ว จาก 30% มาเป็น 20% ถือว่ามากพอสมควรอยู่แล้ว หรือควรจะออกมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ที่จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับสิงค์โปร มาเลเซียได้แทน ทั้งนี้ ถ้าจะมีการออกมาตรการ หรือลดภาษีดังกล่าวก็จะเป็นมาตรการที่ควบคุมทั่วไป
กำลังโหลดความคิดเห็น