xs
xsm
sm
md
lg

ออมสินลุยรากหญ้าสนอง “โต้ง” เบรกสินเชื่อรายใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ออมสินสนองนโยบาย “โต้ง” เร่งเดินหน้าสินเชื่อรายย่อยพร้อมเบรกสินเชื่อรายใหญ่หลังไอแบงก์เจอพิษหนี้เสียทะลัก ยันปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพ เอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.05% เท่านั้น ระบุสินเชื่อรายใหญ่ในอดีตล้วนมีความเสี่ยงต่ำ และลูกหนี้มีความน่าเชื่อถือสูง

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ iBank ประสบปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลจนทำให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ให้นโยบายแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่ง ทำหน้าที่ตามภารกิจการจัดตั้ง โดยธนาคารออมสินจะเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่รายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้

โดยในปัจจุบัน พอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารออมสินในปัจจุบันนั้นมีอยู่ประมาณ 7% ของพอร์ตเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งบางแห่งเป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บมจ.ปตท. และบริษัทราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โดยบริษัทเหล่านี้เป็นลูกค้าที่มีการปล่อยสินเชื่อมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตอนที่นายเลอศักดิ์ จุลเทศ เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และไม่ได้มีปัญหาในการผ่อนชำระสินเชื่อแต่อย่างใด

“ในช่วงที่ผมเข้ามาบริหารงานธนาคารออมสินนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วนั้น ยังไม่มีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้ารายใหญ่แม้แต่รายเดียว พอร์ตลูกค้ารายใหญ่ที่มีอยู่นั้นก็ล้วนเป็นลูกค้าเดิมที่ได้รับสินเชื่อมาตั้งแต่ในอดีต ไม่มีปัญหาทางการเงิน และเป็นที่น่าเชื่อถือทั้งสิ้น โดยจากนี้ไป ธนาคารออมสินจะไม่เน้นการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ แต่จะเน้นการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อในระดับฐานรากที่ไม่สามารถเข้าสู่แหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ได้” นายวรวิทย์กล่าว

ทั้งนี้ นโยบายด้านสินเชื่อยังคงมุ่งเน้นกลุ่มรายย่อย และจะดำรงสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยให้อยู่ในสัดส่วน 90% และรายใหญ่ไม่ให้เกิน 10% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า พร้อมเพิ่มปริมาณสินเชื่อภาครัฐ จากการที่รัฐบาลต้องการเงินทุนในประเทศมาลงทุน คาดว่า ออมสินจะได้ส่วนแบ่งแน่นอน และทำให้ปริมาณสินเชื่อดังกล่าวขยายตัวได้มากขึ้น จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท จากปริมาณสินเชื่อทั้งหมด 1.58 ล้านล้านบาท ซึ่งปริมาณสินเชื่อที่เหลือ 1.52 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 90% และ 10% เป็นสินเชื่อรายใหญ่

ขณะที่กลยุทธ์การดำเนินกิจการในปี 2556 ตั้งเป้าทุกด้านขยายตัว 7-8% ขณะที่กำไรจะรักษาระดับไว้ที่ 20,000 ล้านบาท หลายปีที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ยปีละ 25-30% โดยจะมุ่งเน้นปรับพอร์ตสินเชื่อไปที่กลุ่มมีความเสี่ยงน้อย และขยายพอร์ตสินเชื่อภาครัฐที่มีความเสี่ยงต่ำ ขณะนี้กำลังรอดูความชัดเจนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ 2 ล้านล้านบาท ที่จะลงทุนใน 2 ปีนี้ และหันไปเน้นขยายสินเชื่อในกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน และธนาคารประชาชนเพิ่มมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น