“ซีพีเอฟ” คาดโกยยอดขายปีนี้ 3.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่นมาได้ 2.1 แสนล้านบาท แต่ยอมรับผลดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามเป้า เพราะธุรกิจไก่-หมูยังขาดทุน ส่วนกุ้งโดนปัญหาติดโรค พร้อมคาดในปี 56 ยอดขายจะเติบโตแตะ 4 แสนล้านบาท ตามสัดส่วนรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ 55% การส่งออก 8% และภายในประเทศ 36-37% ซึ่งรายได้ดังกล่าวเป็นไปตามแผน 5 ปีของบริษัทที่กำหนดยอดขายไว้ที่ 6 แสนล้าน
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ในปี 2555 คาดซีพีเอฟจะมียอดขายรวมประมาณ 3.5 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้ที่มาจากการลงทุนในต่างประเทศ 12 ประเทศทั่วโลก ประมาณ 55% จากการส่งออก 8% และที่เหลือเป็นรายได้ในประเทศ 37% จะเห็นได้ว่าสัดส่วนรายได้ทั้งการส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศมีสัดส่วนมารวมกันแล้วประมาณ 3% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการเพิ่มรายได้ในส่วนนี้ให้มากขึ้น
ยอดขายดังกล่าวถือว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มียอดขายอยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท โดยเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังจากซีพีเอฟได้เข้าซื้อ 2 บริษัทในจีน และเวียดนาม และคาดว่าในปี 2556 นี้ ยอดขายของซีพีเอฟจะเติบโตแตะ 4 แสนล้านบาท ตามสัดส่วนรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ 55% การส่งออก 8% และภายในประเทศ 36-37% ซึ่งรายได้ดังกล่าวเป็นไปตามแผน 5 ปีของบริษัทที่กำหนดยอดขายไว้ที่ 6 แสนล้าน โดยในเบื้องต้น คาดว่ายอดขายดังกล่าวจะทะลุเป้า หรือมีรายได้มากกว่าที่คาดเอาไว้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สินค้าอาหาร ในปี 2555 พบว่า ซีพีเอฟมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบอาหารสัตว์ ประมาณ 20-30% ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงตาม ในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ทุกชนิดปรับตัวลดลง ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ โดยมีสาเหตุมาจากที่ 2-3 ปีก่อนหน้านั้น ราคาเนื้อสัตว์เหล่านี้มีราคาสูงมาโดยตลอด ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการขยายการเลี้ยงเพิ่มเติม ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในปี 2555 จึงล้นตลาดเกินความต้องการ การแก้ไขปัญหานี้ต้องรอระยะเวลา ซึ่งผู้ประกอบการที่มีส่ายป่านสั้นจะเริ่มลดปริมาณการเลี้ยงลง คาดว่าในปี 2556 นี้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น
“ในส่วนของไก่ และหมู ปีนี้ซพีเอฟมีผลประกอบการที่ขาดทุน ซึ่งคิดว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ จะเป็นลักษณะเดียวกัน ยังดีที่ซีพีเอฟมีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามาทดแทน ซึ่งการผลิตอาหารสำเร็จรูปออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ซีพีเป็นช่องทางธุรกิจที่ดีที่ทำให้ซีพีเอฟในปีนี้ยังมีกำไร โดยใน 3 ไตรมาสแรกของปี มีประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท มากกว่าทั้งปีของปี 54 อยู่ที่ 1.58 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างการสรุปผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 แต่ยอมรับว่าไม่โดดเด่นแต่เท่าที่ควร โดยรวมแล้วทั้งรายได้ และกำไรของซีพีเอฟปีนี้ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้” นายอดิเรกกล่าว