xs
xsm
sm
md
lg

สศค.เผย ศก.ไทยเดือน ก.ย.55 และ Q3/55 ได้รับแรงหนุนการใช้จ่ายใน ปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศค.เผย ศก.ไทยเดือน ก.ย.55 และ Q3/55 รับแรงหนุนการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งจากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ดี

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ย.55 และไตรมาส 3/55 เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งจากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ดี

ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซน และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และส่งผลกระทบทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยโดยเฉพาะการผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกของไทยหดตัวลง แต่เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับปัจจัยบวกจากตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดส่งออกของประเทศออสเตรเลีย แอฟริกา อินเดีย และฮ่องกง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2555 และไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งจากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออก และภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกยังคงมีสัญญาณชะลอตัว สะท้อนผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซน และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก”

การที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 55 ขยายตัวได้จากการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก แต่มีประเด็นเศรษฐกิจที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป 1.วิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซน และเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน และ 2.การดำเนินนโยบายการคลังที่จะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 55 และปี 56 ต่อไป

ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย.55 ขยายตัวที่ร้อยละ 67.8 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 78.6

สำหรับด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือน ก.ย.55 ขยายตัวร้อยละ 24.5 ทำให้ไตรมาส 3/55 ขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 18.3 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ย.55 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 39.4 ทำให้ไตรมาส 3/55 ยังคงขยายตัวในระดับสูงอยู่ที่ร้อยละ 53.5

ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาส 3/55 หดตัวที่ร้อยละ -3.8 สอดคล้องกับภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย.55 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยหดตัวร้อยละ -13.7 ทำให้ไตรมาส 3/55 หดตัวร้อยละ -10.2 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.5 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อในต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น