xs
xsm
sm
md
lg

“เวิลด์แบงก์” เผยผลการจัดอันดับ ปท.น่าลงทุนทั่วโลกปี 56 ไทยหล่นไปที่ 18

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เวิลด์แบงก์” เผยผลการจัดอันดับประเทศน่าลงทุนทั่วโลกในปี 2556 ไทยหล่นไปอยู่ในอันดับ 18 แต่ก็ยังน่าสนใจเพราะอันดับยังไม่เกิน 20 แม้จะประสบปัญหาวิกฤตน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวถึงผลการจัดทำศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ 185 ประเทศทั่วโลกปี 2556 หรือ “Doing Business 2013” เพื่อดูความยากง่ายในการเข้ามาทำธุรกิจ ว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก จากปีที่ผ่านมา อยู่อันดับที่ 17 แต่ยังถือเป็นประเทศที่น่าลงทุน เพราะยังอยู่ใน 20 อันดับแรก แม้จะประสบปัญหาวิกฤตน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา

โดยปีนี้ ประเทศไทยสามารถลดขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจให้สะดวกขึ้น และลดขั้นตอนการจ่ายภาษีลง บวกกับนโยบายรัฐบาลที่มีการลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 30% เหลือ 23% ทำให้ไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุนอยู่ แต่ถึงแม้ไทยจะปรับปรุงขั้นตอนดีขึ้นแล้ว ก็ยังมีประเทศที่ปรับปรุงได้ดีกว่า ซึ่งไทยควรเร่งปรับปรุงด้านต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ไทยยังถือเป็นประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนเป็นอันดับที่ 6 ของทวีปเอเชีย รองจากสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน และเป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ยังสามารถครองแชมป์เป็นประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากที่สุดของโลกได้เป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน ขณะที่ประเทศมาเลเซียขยับขึ้นจากอันดับ 18 เป็น 12 ถือเป็นประเทศที่น่าจับตามอง

นอกจากนี้ รายงานของเวิลด์แบงก์ยังระบุว่า ประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจในอันดับที่ 2-10 จากการสำรวจครั้งล่าสุดประกอบด้วย เขตปกครองพิเศษฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ จอร์เจีย และออสเตรเลีย ตามลำดับ

ส่วนประเทศขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจ เช่น เยอรมนี ได้อันดับ 20 ของโลก ญี่ปุ่น ได้อันดับ 24 ฝรั่งเศส อันดับ 34 รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนอันดับที่ 91 ด้านกรีซ ถูกจัดให้มีความเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจอยู่ในอันดับที่ 78 ของโลก เนื่องจากยังคงมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แม้จะมีปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ ขณะที่อันดับสุดท้าย คือ อันดับที่ 185 ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง
พม่าได้ธนาคารโลกช่วยอัดฉีดเงินเพื่อนำไปสางหนี้เก่า
ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ต่างเข้าไปเปิดสำนักงานในพม่าขึ้นใหม่ โดยที่เวิลด์แบงก์ยังให้คำมั่นสัญญาที่จะปล่อยเงินให้เปล่าเพื่อการพัฒนาเป็นจำนวน 85 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งช่วยแดนหม่องในการเคลียร์หนี้สินที่ติดค้างอยู่ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสนับสนุนการปฏิรูปทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ฮิวแมน ไรต์ วอช ก็ออกคำแถลงระบุ นานาชาติมัวหลงใหลได้ปลื้มกับข่าวคราวการเปลี่ยนแปลงในพม่า ทั้งที่ความจริงยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในรัฐยะไข่
กำลังโหลดความคิดเห็น