“นายแบงก์” แนะวิธีใช้-ดูแลความปลอดภัยการทำธุรกรรมการเงิน ผ่านระบบ “เน็ตแบงกิ้ง-โมบายแบงกิ้ง” ต้องเพิ่มความระมัดระวัง สำหรับมือถือที่มีหน้าจอเล็ก อาจผิดพลาด เจอแอปฯ ที่ทำเอาไว้หลอกลวงเงิน ย้ำผู้ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ควรเลือกใช้ระบบปฏิบัติการที่แบงก์เป็นผู้พัฒนา เพราะได้วางระบบป้องกันอันตรายเอาไว้ และต้องหมั่นตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการ รวมทั้งอัปเดตระบบปฏิบัติการของแอปฯ ที่ธนาคารส่งให้
นายอาจ วิเชียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการให้บริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านอินเทอร์เน็ต (อินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง) และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน (โมบาย แบงกิ้ง) ซึ่งมีข่าวระบุถึงความปลอดภัยในการใช้บริการ โดยยืนยันว่า ในส่วนการใช้บริการดังกล่าว ลูกค้ายังสามารถใช้บริการได้ เพียงแต่มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ 2-3 เรื่อง เช่น ในการใช้บริการดังกล่าว จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะโมบาย แบงกิ้ง ที่โทรศัพท์มือถือจะมีหน้าจอเล็กกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป การกรอกข้อมูลจะต้องใช้ความระมัดระวัง ขณะเดียวกัน หน้าจอที่เล็กก็อาจทำให้ลูกค้าสามารถแยกแยะระหว่างแอปพลิเคชันที่เป็นของจริง กับแอปพลิเคชันที่หลอกลวงลูกค้า ซึ่งผู้ใช้บริการต้องเพิ่มความระมัดระวัง
สำหรับการใช้โมบาย แบงกิ้ง ผู้ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ควรเลือกใช้ระบบปฏิบัติการที่ธนาคารได้พัฒนาขึ้น และได้วางระบบป้องกันอันตรายไว้ เช่น ธนาคารกสิกรไทย จะมีระบบป้องกัน 3 ชั้น โดยจะไม่สามารถใช้งานโมบาย แบงกิ้ง ผ่านระบบ wifi และเมื่อลงแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เครื่องใด ก็จะต้องทำธุรกรรมผ่านเครื่องเดียวกันเท่านั้น และต้องกรอกรหัสผ่านต่างๆ ให้ถูกต้อง
สุดท้าย ในการใช้บริการโมบาย แบงกิ้ง และอินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง ลูกค้าต้องหมั่นตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการ รวมทั้งอัปเดตระบบปฏิบัติการของแอปพลิเคชันที่ธนาคารส่งให้ ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ปัจจุบัน การให้บริการโมบาย แบงกิ้ง และอินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง มีลูกค้าใช้บริการประมาณ 3 ล้านบัญชี และแต่ละเดือนมีการทำธุรกรรม 7-8 แสนราย มีอัตราการเติบโตการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 25 ต่อปี ซึ่งปริมาณธุรกรรมเพิ่มร้อยละ 50 ต่อปี และวงเงินที่ใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 70