ซีไอเอ็มบีไทย แจงกำไรครึ่งปีแรกหด 163.6 ล้านบาท หรือ 30.5% เหตุต้องจ่ายชดเชยแพ้คดีกองทุนสำรองฯ จำนวน 206 ล้าน ระบุ เป็นคดีเก่ากว่า 15 ปี ก่อนควบรวมไทยธนาคาร แต่มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่ม 7.4% ยันยังไม่ปรับเป้าสินเชื่อทั้งปี แม้ครึ่งปีจะขยายตัวเพียง 3.3% มั่นใจครึ่งปีหลังไล่ทัน
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2555 ของธนาคาร มีกำไรสุทธิจำนวน 372.8 ล้านบาท ลดลง 163.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.5 เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2554 โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นประมาณ 36.6 ล้านบาท หรือ 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากหักกำไรจากรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในงวดครึ่งปี 2554
ทั้งนี้ สาเหตุที่กำไรสุทธิของธนาคารปรับลดลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแพ้คดี ซึ่งต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแห่งหนึ่ง เป็นจำนวน 206 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งคดีดังกล่าว เป็นคดีที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินที่ได้ปิดกิจการไปแล้วก่อนการควบรวมกิจการกับธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ก่อนการเปลี่ยนแปลงเป็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคดีที่เกิดมากว่า 15 ปีแล้ว และธนาคารได้มีการตั้งบัญชีสำรองค่าเสียหายสำหรับเงินต้นจำนวน 70 ล้านบาทไว้แล้ว แต่ยังคงต้องชำระค่าดอกเบี้ยจำนวน 136 ล้านบาท
“แม้จะชนะคดีในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์แล้วก็ตาม แต่ธนาคารเคารพต่อคำตัดสินของศาลฎีกา และได้ดำเนินการชำระเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ ก็กำลังดำเนินการสอบทานในกรณีอื่นๆ ซึ่ง ณ ขณะนี้ เชื่อว่าไม่มีกรณีคล้ายคลึงกัน”
ด้านรายได้จากการดำเนินงานในงวดครึ่งปีแรก มีจำนวน 3,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 186.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 จากจำนวน 3,028.5 ล้านบาท โดยในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 187.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทั้งหมด ลดลงประมาณ 1 ล้านบาท เนื่องจากกำไรจากการลงทุน และรายได้อื่นๆลดลง 88.6 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากกำไรพิเศษในปี 2554 ขณะที่ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 9.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) ปรับลดลงจากงวดครึ่งปี 2554 ที่ร้อยละ 3.59 เป็นร้อยละ 3.24 ในงวดครึ่งปี 2555
นายสุภัคกล่าวอีกว่า สินเชื่อของธนาคารในช่วง 6 เดือนแรกของปี มีอัตราการขยายตัวที่ 3.3% จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 20-30% แต่ธนาคารคงจะยังไม่มีการปรับเป้าหมายการปล่อยกู้ เนื่องจากเชื่อมั่นว่า ในช่วงที่เหลือของปีจะยังสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น