xs
xsm
sm
md
lg

ยอดเช็คเด้งลดฮวบ ธปท.ลุ้น ศก.ทะยาน-ภาครัฐอัดมาตรการหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยเช็คเด้งเดือนก.พ.ปีนี้ลดลง ทั้งปริมาณ และมูลค่า โดยปริมาณเช็คลดลง 4,896 ล้านฉบับ ส่วนมูลค่าเช็คเด้งลดลงเล็กน้อย 810 ล้านบาท คาดเป็นเพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และภาครัฐมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องช่วยภาคธุรกิจมากขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานการให้บริการเช็คทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนก.พ.ปีนี้ ว่า มีปริมาณเช็คเรียกเก็บทั้งระบบทั่วประเทศ ผ่านศูนย์เรียกเก็บเงินตามเช็คในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านศูนย์หักบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เรียกเก็บเงินตามเช็คในเขตภูมิภาคที่เรียกเก็บผ่านสำนักหักบัญชีจังหวัด และศูนย์เรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชีผ่านระบบงานของ ธปท.จำนวน 5.9 ล้านฉบับ เพิ่มขึ้น 9.45 หมื่นฉบับ หรือ 1.63% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 5.81 ล้านฉบับ โดยปริมาณเช็คทั้งระบบมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.81 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.99 หมื่นล้านบาท หรือ 2.18% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่มีมูลค่า 2.75 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ในจำนวนเช็คเรียกเก็บทั้งระบบ มีจำนวนเช็คคืนไม่มีเงิน หรือเช็คเด้งในเดือนก.พ.รวมทั้งสิ้น 5.1 หมื่นฉบับ ลดลง 4,896 ฉบับหรือ 8.76% เมื่อเทียบกับเช็คเด้งในเดือนก่อนหน้าที่มี 5.59 หมื่นฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้พบว่า เป็นเช็คเด้งจากศูนย์เรียกเก็บเช็คในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด 3.1 หมื่นฉบับ จากศูนย์เรียกเก็บเงินตามเช็คในเขตภูมิภาคฯ 1.14 หมื่นฉบับ และจากศูนย์เรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชีฯ 8,643 ฉบับ โดยเช็คเด้งทั้งหมดมีมูลค่ารวม 6,450 ล้านบาท ลดลง 810 ล้านบาท หรือ 11.16% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่มีเช็คเด้ง 7,260 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้พบว่า เช็คจากศูนย์เรียกเก็บเงินตามเช็คในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีเช็คเด้งมากที่สุด 4,490 ล้านบาท รองมาเป็นเช็คเด้งจากศูนย์เรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชีฯ มีเช็คเด้ง 1,080 ล้านบาท และศูนย์เรียกเก็บเงินตามเช็คในเขตภูมิภาคฯ มีเช็คเด้ง 880 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากธปท.เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ว่าเช็คเด้งมีมูลค่าลดลง เพราะเศรษฐกิจในเดือนก.พ.ปีนี้เริ่มกลับมาฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาจากน้ำท่วม ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนผู้บริโภคมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะภาครัฐ และธปท. รวมถึงธนาคารพาริชย์มีการออกมาตรการในการเพิ่มสภาพคล่อง และผ่อนผันการชำระหนี้ให้มากกว่าปกติ ทำให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่อง และมีความสามารถในการชำระเงินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การสั่งจ่ายเช็คเด้งน้อยลง
กำลังโหลดความคิดเห็น