ผู้บริหาร 7-11 ประกาศฮึดสู้น้ำท่วม ยันสาขา 2 พันแห่งปักหลักสู้ตาย-ไม่ปิดหนีจนกว่าสถานการณ์จะวิกฤต ลั่นปรับแผนส่งสินค้าใหม่ พร้อมยืนยัน ไม่ได้ผูกขาดการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทใดเป็นพิเศษ และสามารถหาซื้อจากผู้ผลิตรายอื่นได้ ด้านผู้บริหาร "สิงห์" แจงปัญหาน้ำดื่มขาดแคลน เกิดจากสินค้าตกค้างในศูนย์กระจายสินค้า และการแตกตื่นกักตุน ครวญโรงงานพัง 3 แห่ง พร้อมคาดวิกฤตรอบนี้ตกงานกว่า 1 ล้านตำหน่ง
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-11) เปิดเผยว่า ขณะนี้เซเว่น-อีเลฟเว่นมีสาขาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ต้องปิดให้บริการมากกว่า 300 สาขา ทั้งในเขต กทม. และในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันในพื้นที่ กทม.และใกล้เคียงมีสาขาเปิดให้บริการมากกว่า 2,000 สาขา ซึ่งยืนยันว่าจะเปิดบริการตามปกติ และไม่มีแผนปิดให้บริการอย่างแน่นอน จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเข้าขั้นวิกฤต เพื่อให้ประชาชนสามารถมีร้านค้าที่จะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ ส่วนปัญหาสินค้าในร้านมีจำหน่ายไม่เพียงพอนั้น บริษัทกำลังเร่งเติมสินค้าและหาทางขนส่งสินค้าให้รวดเร็วมากที่สุด
ทั้งนี้ บริษัทปรับแผนแก้ปัญหาคลังสินค้าส่งสินค้าไม่สะดวก ด้วยการเร่งจัดทำศูนย์กระจายสินค้าชั่วคราวตามตึกแถวต่างๆ ไว้ในเขต กทม.และปริมณฑลมากกว่า 100 แห่ง รวมทั้งปรับแผนกระจายสินค้าใหม่ด้วยการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิต (ซัพพลายเออร์) รายอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม เช่น รับซื้อจากชัพพลายเออร์รายเล็กแทน เพื่อให้สินค้าในแต่ละสาขามีเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และยืนยันว่าบริษัทไม่ได้ผูกขาดการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทใดเป็นพิเศษ สามารถหาซื้อจากผู้ผลิตรายอื่นได้
“สำหรับในกรณีเลวร้ายที่สุด หากเกิดน้ำท่วมจริงทั้ง กทม. เราคงไม่มีแผนที่จะปิดให้บริการสาขาของเซเว่น-อีเลฟเว่นทั้งหมดที่มีอยู่ใน กทม.และปริมณฑล 2,000 สาขา แต่ขอประเมินสถานการณ์ก่อน และจะพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ถึงที่สุด เพราะเชื่อว่าน้ำคงไม่ท่วมหมดทุกสาขาอย่างแน่นอน”
ด้านนายสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอร์รี่ จำกัด เปิดเผยว่า จากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในรอบ 78 ปี แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เกิดขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นปี 2485 หรือปี 2538 แต่ก็ไม่ถือว่ารุนแรงมากหากประเมินมูลค่าด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีแหล่งอุตสาหกรรม จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบหรือประเมินมูลค่าด้านความเสียหายได้
สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นดังกล่าว นายสันติ มองว่า ทุกฝ่ายน่าจะหันมาช่วยกันเยียวยาผู้ประสบภัยให้มีกำลังใจที่ดีขึ้น เพราะจากนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่ต้องจมน้ำรวมประมาณ 1,000 โรงงาน ส่งผลให้หลังน้ำลดอาจมีพนักงานตกงานไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมประมาณ 2 ปี เนื่องจากเครื่องจักรบางตัวต้องใช้ระยะเวลาในการซ่อมบำรุง
“ในส่วนของบริษัทได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมโรงงานจำนวน 3 แห่ง คือที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม, จ.ปทุมธานี และนิคมฯ โรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวหลังจากน้ำลด คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการซ่อมบำรุงและปรับปรุงเครื่องจักรประมาณ 3-4 เดือนจึงจะสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้”
ล่าสุด บริษัทได้เปิดศูนย์บัญชาการช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัยแบบครบวงจรภายใต้ชื่อ “สิงห์เซ็นเตอร์ อโศก” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งในส่วนของร่างกาย และจิตใจ รวมไปถึงการฟื้นฟูสถานที่ ทรัพย์สิน และสร้างงาน พร้อมกันนี้ ศูนย์ฯ ดังกล่าวยังเปิดเป็นศูนย์พักพิงให้กับผู้ประสบภัยจำนวน 500 คน หากภาครัฐต้องการความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในส่วนของศูนย์ดังกล่าวบริษัทต้องการอาสาสมัครจำนวนมากใน 3 ด้านหลัก คือ 1.อาสาทางการแพทย์ 2.อาสาจิตวิทยา และ 3.อาสากลุ่มซ่อมแซม เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัย
นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สิงห์คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตสินค้าโดยเฉพาะน้ำดื่ม ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคได้อีกประมาณ 4 แห่งในต่างจังหวัด ประกอบด้วย สิงห์บุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ขณะที่ในกรุงเทพฯ มีอีก 1 แห่ง คือ สามเสน โดยในส่วนของกำลังการผลิตสินค้า ขณะนี้บริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตอย่างเต็มที่แล้วที่ประมาณ 1.3 ล้านแพ็กต่อวัน เน้น 2 ขนาดหลัก คือ ขนาด 500 มล. แพ็กละ 12 ขวด และขนาด 1.5 ลิตร แพ็กละ 6 ขวด
ส่วนปัญหาปริมาณน้ำดื่มที่ผลิตออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคนั้น มองว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากสินค้าบางส่วนที่ยังค้างอยู่ในศูนย์กระจายสินค้าของบรรดาห้างค้าปลีก ซึ่งหลังจากได้ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม จึงไม่สามารถนำน้ำดื่มออกมาจำหน่ายได้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเกิดเพราะปริมาณการซื้อของผู้บริโภคที่เกินจริง เนื่องจากผู้บริโภคบางรายที่ยังไม่ประสบภัยมีการซื้อน้ำเพื่อไปกักตุนกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ขณะนี้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งที่ผู้ประกอบการเดินกำลังการผลิตแบบเต็มที่แล้ว