บิ๊กขนส่งฯ สั่งเช็กบิล กลุ่มหน้าใหญ่ ประมูลทะเบียน สส 9999 ไม่จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 ล้านบาท โวยผู้ชนะการประมูล แล้วไม่มาชำระค่าประมูล ทำให้เสียโอกาสที่จะได้รายได้จากการประมูล และนำเงินไปใช้ประโยชน์สาธารณะ
นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ชนะการประมูลทะเบียนเลขสวย สส 9999 กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็นราคาประมูลหมายเลขทะเบียนสูงสุดกว่า 8 ล้านบาท แล้วไม่มาชำระเงินค่าประมูลทะเบียนรถว่า ขณะนี้หมายเลขทะเบียนรถเลขสวยหมวด สส 9999 กรุงเทพมหานคร ได้มีผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 6,750,000 บาท และมาชำระเงินนำป้ายทะเบียนไปใช้แล้ว ซึ่งเป็นการเปิดประมูลครั้งที่ 5 เนื่องจากผู้ที่ชนะการประมูลครั้ง 1-4 ไม่มาชำระเงิน
โดยเลขทะเบียนดังกล่าว ถือเป็นเลขทะเบียนที่มีราคาประมูลสูงสุดตั้งแต่มีการเปิดประมูลคือ 8,111,111 บาท ซึ่งเป็นราคาประมูลครั้งแรกในปี 2549 ส่วนผลการประมูลราคาครั้งที่ 2 ในปี 2551 ราคา 4,610,000 ล้านบาท ครั้งที่ 3 ในปี 2552 ราคา 5,000,000 ล้านบาท ครั้งที่ 4 ในปี 2553 ราคา 7,000,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ชนะการประมูลในครั้งที่ 1-4 นั้น ที่ไม่มาชำระเงินตามหลักเกณฑ์ และมีส่วนต่างราคาการประมูลที่ต้องชดเชย กรมจึงได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายไปแล้ว
“ผู้ชนะการประมูล แล้วไม่มาชำระค่าประมูล ทำให้กรมเสียโอกาสที่จะได้รายได้จากการประมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ กรมจะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าส่วนต่างของราคาการประมูลแต่ละครั้ง อย่างเลขทะเบียน สส 9999 ผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 1 และครั้งที่ 4 ต้องชดเชยค่าส่วนต่างให้กรม โดยผู้ที่ประมูลคนแรก ต้องชดเชยให้กรมเป็นเงิน 3,501,111 บาท เนื่องจากราคาประมูลครั้งที่ 2 ต่ำกว่าครั้งที่ 1 และผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 4 ต้องชดเชยค่าส่วนต่างให้กรมฯ 250,000 บาท เพราะราคาครั้งที่ 5 ต่ำกว่าครั้งที่ 4 ส่วนผู้ประมูลครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ไม่ต้องเสียค่าส่วนต่าง เพราะราคาประมูลครั้งที่ 3 สูงกว่าครั้งที่ 2 และครั้งที่ 4 สูงกว่าครั้งที่ 3”
อย่างไรก็ตาม กรมต้องการขอความร่วมมือผู้ที่ประมูลหมายเลขทะเบียนสวย ให้มารับป้ายและชำระเงินตามหลักเกณฑ์ด้วย เนื่องจากกรมไม่ต้องเสียโอกาสที่จะนำเงินที่ได้จากการประมูล ซึ่งเป็นเงินในกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำไปช่วยเหลือผู้พิการจากการใช้รถใช้ถนน
โดยล่าสุดในปีนี้ ได้เปิดให้ผู้พิการกลุ่มดังกล่าว ยื่นขอความช่วยเหลือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน มีผู้พิการยื่นขอความช่วยเหลือเงินในการซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น รถเข็น แขน-ขาเขียม ไม้เท้า ไม้คำยัน จำนวน 1,854 ราย วงเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน เช่น แพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จะพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละรายต่อ ซึ่งปีนี้ทาง กปถ.ได้กำหนดวงเงินช่วยเหลือในการซื้ออุปกรณ์ 70 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่กำหนดไว้ที่ 50 ล้านบาท