xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น ศก.สหรัฐฯ-อียู ถดถอยรอบ 2 ฉุดจีดีพีไทยโตแค่ 2% ตลาดหุ้นผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หวั่น ศก.สหรัฐฯ-อียู ถดถอยรอบ 2 พร้อมกัน อาจฉุด "จีดีพี" ของไทย โตได้ต่ำกว่า 2% ระบุ ศก.สหรัฐฯ และอียู หากรวมกันจะมีขนาดใหญ่กว่า 40% ของขนาด ศก.โลก แนะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบตรง เตรียมพร้อมรับมือ ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทย ยังมีความเสี่ยงผลกระทบ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า จากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และกลุ่มยูโรโซนเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่รวมกันกว่าร้อยละ 40 ของขนาดเศรษฐกิจโลก (มีสัดส่วนร้อยละ 23 และร้อยละ 19 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลกในปี 2553) หากทั้ง 2 ภูมิภาคประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยรอบสอง (Double-Dip Recession) พร้อมกันคงฉุดให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ

กรณีดังกล่าว ประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทย คงมีมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจออกมาใช้ ซึ่งประเทศขนาดใหญ่ในเอเชียอย่างจีนและอินเดีย รวมถึงหลายประเทศน่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจยังคงมีการอัตราการขยายตัวที่เป็นบวกได้ และเป็นภูมิต้านทานให้ภูมิภาคเอเชียผ่านปัญหาดังกล่าวไปได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยการที่ไทยมีสัดส่วนตลาดส่งออกในเอเชียสูงถึงร้อยละ 63 ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จากน้ำหนักที่มากของสหรัฐฯ และยูโรโซน คงจะถ่วงให้การส่งออกของไทยในปี 2555 ต่ำกว่ากรอบประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 12-17 อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยในกรณีเลวร้ายอาจกดให้ตัวเลขการเติบโตของการส่งออกเอนเข้าหาแดนลบดังเช่นวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในรอบก่อนๆ ที่ผ่านมา แต่โดยรวมก็คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจของเอเชีย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ในช่วงปีที่สหรัฐประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยมักถูกฉุดให้ชะลอตัวลงแรงหรือหดตัวตามไปด้วย (ดังเช่นปี 2544 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 และในปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 2.3) หากในกรณีดีที่สุด ถ้าเศรษฐกิจจีนและประเทศเอเชียอื่นๆ ยังมีแรงขับเคลื่อนให้ขยายตัวได้พอสมควร และภายใต้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ของไทยที่อาจจะมีมาตรการเพิ่มรายได้และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภายในประเทศอย่างเข้มข้น เศรษฐกิจไทยก็อาจยังมีโอกาสที่จะขยายตัวเป็นบวกได้ แต่คงเป็นอัตราไม่สูงนักคือไม่น่าจะเกินร้อยละ 2

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าธุรกิจไทยที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงน่าจะเป็นอุตสาหกรรมพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และยูโรโซนในระดับสูง เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้ง ไก่ และผลไม้กระป๋องและแปรรูปนั้น แม้พึ่งพาตลาด 2 กลุ่มนี้สูง แต่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค ผลกระทบจึงน่าจะรุนแรงน้อยกว่า

ส่ำหรับกลุ่มที่มีโอกาสได้รับผลกระทบค่อนข้างมากรองลงมา ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ คอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ วิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีโอกาสได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เช่น สินค้าเกษตร รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

**คาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า ผันผวน 

สำหรับแนวโน้มสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 8-11 สิงหาคม 2554 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด และบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีโอกาสปรับตัวลดลงตามตลาดในภูมิภาค ขณะที่ประเด็นติดตามคงอยู่ที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะประกาศออกมาในช่วงคืนวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2554 การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลใหม่ของไทย ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2554 และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีก ทั้งนี้ บล.กสิกรไทย โดยคาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,077 และ 1,060 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,106 และ 1,122 จุด ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น