xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้า-โรงหนัง ไม่ประมาทหวัด 2009 หนุนรัฐสั่งปิดได้หากจำเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รถไฟฟ้าบีทีเอส แจงมาตรการเข้มข้นรับมือไข้หวัด 2009 เผย ยอดผู้ใช้รถไฟฟ้ายังเป็นปกติ เฉลี่ยวันละ 4.3 แสนคน “ปธ.ที่ปรึกษาบอร์ด” หนุนรัฐสั่งปิดบริการที่มีความเสี่ยงได้ หากมีความจำเป็น เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด แม้จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้บริหาร “เครือเมเจอร์” ยืนยัน ยอดคนดูหนังยังไม่ลดลง

นายอาณัติ อาภาภิรม ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เปิดเผยว่า บีทีเอสได้ใช้มาตรการดูแลป้องกันและลดความเสี่ยงของการระบาดไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตั้งแต่เริ่มมีกระแสข่าวว่ามีการระบาดที่เม็กซิโก โดยหลักสำคัญที่ดำเนินการ เช่น การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตัวรถกรณีใช้งานเสร็จเมื่อนำเข้าอู่การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ในตัวรถทุก 4 ชั่วโมง การให้เจ้าหน้าที่ใช้หน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างปฏิบัต้หน้าที่

นอกจากนี้ ยังมีการดูแลความสะอาดราวบันได การฉีดพ่นมือพนักงานรับแลกเงิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากแบงก์ที่มาจากผู้โดยสารที่อาจจะไปแพร่ต่อไปยังผู้โดยสารคนอื่นหรือพนักงาน รวมไปถึงการเฝ้าระวังหากพบผู้โดยสารไอ-จาม หรือไม่สบายก็จะมีการแจกหน้ากากอนามัยให้ และเตรียมที่จะติดตั้งเจลล้างมือ ตามสถานี ในขณะเดียวกันหากพบว่าพนักงานมีอาการป่วยก็ให้หยุดทำงานทันที

นายอาณัติ กล่าวว่า จำนวนผู้โดยสาร ขณะนี้ไม่ได้ลดลง ยังมีประมาณ 430,000 คนต่อวัน แต่หากโรคระบาดหนักขึ้น แล้วสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อประชาชน ก็อาจจะมีคนตื่นตระหนกหันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นก็ได้ ซึ่งคาดหวังว่าคงจะไม่ถึงระดับดังกล่าว

“ในขณะนี้กำลังจะรณรงค์ให้ประชาชนใช้หน้ากากอนามัยมากขึ้น เพราะเท่าที่สังเกตมีผู้ใช้หน้ากากไม่ถึงร้อยละ 1 ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้รัฐบาลหยุดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ เช่น กิจกรรมคอนเสิร์ต สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ แม้จะกระทบต่อเศรษฐกิจบ้าง แต่หากจำเป็นก็ควรทำเพื่อหยุดวงจรของการระบาดของโรค”

นายอนวัช องค์วาสิฏฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จำนวนผู้ชมภาพยนตร์ในกลุ่มเมเจอร์ อีจีวี ไม่ได้ลดลง แม้กระแสข่าวการระบาดของโรคจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คงจะมาจากภาพยนตร์ฟอร์มเด่นเข้าฉายอย่างต่อเนื่อง เช่น วงษ์คำเหลา ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส เป็นต้น

นายอนวัช กล่วว่า มาตรการอีกส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากความเชื่อมั่นในการดูแลความปลอดภัยของกลุ่ม ที่จะมีการพ่นนำยาฆ่าเชื้อในระหว่างที่ภาพยนตร์รอฉาย โดยใช้น้ำยาเช่นเดียวกับเครื่องบิน รวมไปถึงการทำความสะอาดระบบปรับอากาศ การทำความสะอาดที่นั่ง การติดตั้งเจลล้างมือ และการแจกหน้ากากอนามัย เป็นต้น

มาตรการเหล่านี้ ยังใช้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งคาราโอเกะ โบว์ลิ่ง ส่วนครึ่งหลังของปีนี้ การใช้บริการจะลดลงหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในการร่วมดูแลลดความเสี่ยงเรื่องการระบาดของโรคที่ต้องทำร่วมกันทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ส่วนจะมีการปิดโรงภาพยนตร์หรือไม่นั้น รัฐบาลก็คงจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากจำเป็นทางเอกชนก็พร้อมปฏิบัติตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น