รัฐบาลยอมรับข้อเสนอสมาชิก กบข.พร้อมขอเวลา 2 เดือนแก้กฎหมายกองทุนฯและสรรหาเลขาฯ คนใหม่ รมว.คลัง ยืนยันไม่จำเป็นต้องยกเลิกกองทุน ขณะที่แกนนำยื่น 6 ข้อเรียกร้อง พร้อมเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง และยื่นหนังสือต่อรัฐสภา
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และยื่นหนังสือเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ กบข.มีผลดำเนินงานขาดทุน ซึ่งต้องยอมรับว่า การดำเนินงานของ กบข.ปี 2551 ได้รับความเสียหายจริง โดยมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและดัชนีหุ้นปรับตัวลง
“รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอของสมาชิก ในส่วนของการปรับแก้กฎหมายเพื่อคำนวณสัดส่วนการจ่ายเงิน บทบาทหน้าที่ของสมาชิก นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปศึกษาในรายละเอียด นอกจากนี้ ยังรับที่จะไปสรรหาเลขาธิการ กบข.คนใหม่แทนคนเก่าที่ลาออกไปภายใน 30 วัน และจะให้เวลาเลขาธิการที่สรรหาได้ ทำงานอีก 30 วัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรับรองว่าในการทำงานจะไม่ให้กรรมการ หรือผู้บริหารคนใดอยู่เหนือกฎหมายได้ ฉะนั้น สมาชิกไม่ต้องกังวลในประเด็นนี้”
นายกรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นคณะกรรมการ กบข.ได้มีมติเลิกจ้าง นายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการ กบข.แล้ว และกำลังสรรหาเลขาธิการคนใหม่ และเท่าที่ทราบผลการสอบสวน พบว่ามีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการภายใน แต่ผลการดำเนินงานในปี 2552 เริ่มกลับมาดีขึ้นแล้ว เพราะภาวะตลาดหุ้นกลับมาฟื้นตัวขึ้น ทำให้ผลการขาดทุนลดลง ส่วนการแก้ไขโครงสร้างกฎหมาย เพื่อปรับปรุง กบข.หรือไม่นั้นกำลังรอพิจารณา
สำหรับข้อเสนอให้ยุบเลิก กบข.เพื่อกลับไปสู่ระบบบำนาญเช่นเดิมนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานรับผิดชอบไปศึกษาแล้ว แต่หากมองย้อนกลับไปตอนที่ก่อตั้ง กบข.พบว่า โครงสร้างของ กบข.ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นประโยชน์ต่อข้าราชการในระยะยาว และเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในแง่การบริหารงบประมาณแผ่นดินด้วย โดย 11 ปีที่ผ่านมาผลตอบแทนของ กบข.เป็นที่น่าพอใจมาโดยตลอด หากจะกลับไปสู่ระบบบำนาญเช่นเดิมต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
“ผลตอบแทนของ กบข.ปัจจุบันอาจลดลงบ้างเมื่อเทียบกับ 11 ปีก่อนที่ก่อตั้ง ซึ่งคิดผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ร้อยละ 9 แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 1 ตัวเลขที่ออกมาจึงทำให้เกิดความแตกต่างกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ผลตอบแทนของ กบข.ก็ยังดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมาโดยตลอด ยังไม่เคยมีผลตอบแทนให้กับสมาชิกติดลบแต่อย่างใด”
โดยช่วงบ่ายวันนี้ กลุ่มเครือข่ายสมาชิก กบข.จำนวนหนึ่ง ประมาณ 500 คน ได้ร่วมกันสวมชุดดำ เคลื่อนจากลานพระบรมรูปทรงม้ามาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้า กรณีสิทธิประโยชน์ที่ได้รับหลังเกษียณอายุราชการ โดยเฉพาะการคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญ
โดยผู้ชุมนุมได้ทำการปิดถนนพิษณุโลก เพื่อเรียกร้องยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หลังคณะกรรมการบริหารของ กบข.ได้บริหารงานผิดพลาด ส่งผลให้เกิดสภาวะขาดทุน ประกอบด้วย
1.ให้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การคำนวนเงินมาตรา 63 ในสูตรการคำนวณบำนาญเป็นอัตราเงินเดือน เดือนสุดท้ายคุณด้วยเวลาราชการหารด้วย 50
2.กรณีที่สมาชิก กบข.ถึงแก่ความตายเพิ่มเติม ให้มีสิทธิได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย และผลผระโยชน์ตอบแทนอื่นดังกล่าวได้
3.ให้สมาชิก กบข.สามารถลาออกจากการเป็นสมาชิกได้ และมีสิทธิ์ได้รับบำเหน็จบำนาญเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นตามกฎหมายกำหนด
4.ให้หลักเกณฑ์การคำนวณเงินบำนาญ กบข.ใหม่ มีผลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2543-2544
5.ให้ดำเนินคดีกับเลขาธิการ กบข. ที่ลาออกไปและกรรมการ กบข.ทุกคนอย่างเฉียบขาด และกรรมการ กบข.ทุกคนรับผิดคืนเงินของสมาชิก ที่ขาดหายไปพร้อมดอกเบี้ย
และ 6.ให้ยกเลิกมาตรา 54 กรณีสมาชิกถูกไล่ออกหรือตายเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ทายาทไม่มีสิทธิ์รับผลประโยชน์ใดๆ
หลังจากทราบข่าว นายกรัฐมนตรี ได้เชิญตัวแทนเครือข่ายฯ จำนวน 5 คน เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า แต่แกนนำ กบข.ต่อรองขอเป็น 10 คน ซึ่งมีนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ มายืนรอรับแกนนำ กบข.และนำเข้าพบนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะเปิดถนนให้มีการสัญจรต่อไปได้ตามปกติ
ประธานเครือข่าย กบข.กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินการและไม่มีความคืบหน้าตามข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อสมาชิกกบข.ทั่วประเทศจะมีมาตรการ คือ 1.จะงดส่งเงินเข้า กบข.2.ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพร้อมกัน 3.ให้คืนเงินที่หักสะสมพร้อมดอกเบี้ยและสิทธิประโยชน์อื่นแก่สมาชิก 4.สมาชิก กบข.จะยื่นฟ้องต่อศาลเพิ่มขึ้น 5.ให้ยกเลิก กบข.6.นัดหยุดงานทั่วประเทศ
นายออน กาจกระโทก โฆษกองค์กรเครือข่ายสมาชิก กบข.กล่าวว่า ระหว่างการหารือนายกรัฐมนตรีได้ขอให้สมาชิก กบข.เห็นใจผู้ใช้แรงงานคนอื่นกว่า 30 ล้านคน ที่ไม่มีสวัสดิการ ทั้งนี้ ยังยอมรับว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับการคำนวณรายได้อยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนของสภา ที่คาดว่าจะพิจารณาได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้ ยังให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีการดำเนินคดีอาญากับเลขาธิการ กบข.และกรรมการ แต่ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลา โดยให้มีตัวแทนของ ป.ป.ท.ไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ทั้งนี้ เครือข่ายยังไม่พอใจกับสิ่งที่รัฐบาลตอบรับ เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยเฉพาะการแก้กฎหมายที่ต้องรอสภาพิจารณา แต่นายกรัฐมนตรียังไม่รับปากว่าจะผ่านสภาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผมจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาในเดือนกรกฎาคม 2552 นี้โดยจะดูว่ารัฐบาลมีความจริงใจแค่ไหน จากนั้นจะพิจารณาจัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง
ล่าสุด มีรายงานว่า พ.ต.วชิพร ยี่ทอง ผู้ประสานงานเครือข่าย สมาชิก กบข.ได้เดินทางไปยังศาลปกครอง เพื่อร้องคุ้มครองไม่ให้สมาชิก กบข.ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากไม่มั่นใจการบริหารงานของบอร์ด กบข.