xs
xsm
sm
md
lg

ธอส.เร่งแก้NPL6หมื่นล้าน จ้างคนนอก-ชงคลังเพิ่มทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธอส.เตรียมเสนอบอร์ดไฟเขียวมาสเตอร์แพลนแก้หนี้เน่า 6 หมื่นล้านบาท จ้องจ้างเอาท์ซอร์สดำเนินการติดตามทวงหนี้แทน พร้อมเสนอแผนเพิ่มทุน 5 พันล้านบามให้กระทรวงการคลังอนุมัติบรรจุลงในงบปี 53

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล อยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 10.3% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งนโยบายในปีนี้จะพยายามควบคุมไม่ให้มีเอ็นพีแอลเกิดใหม่เพิ่มเกิน 2% หรือ สิ้นปีนี้จะให้มียอดเอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 12%

โดยในวันที่ 26 มีนาคมนี้ ธนาคารจะเสนอแผนแม่บท(มาสเตอร์แพลน) ในการแก้ไขเอ็นพีแอลทั้งหมด ต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อให้พิจารณาต่อไป สำหรับสาระของมาสเตอร์แพลนแก้ไขเอ็นพีแอลดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ1. การแก้ไขเอ็นพีแอลที่มีอยู่ 6 หมื่นล้านบาท 2.การแก้ไขเอ็นพีเอ ที่มีอยู่ 7 พันล้านบาท และ 3.การแก้ไขหนี้ส่วนขาดที่มีอยู่ 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับแผนการจัดการ เอ็นพีแอลนั้นแบ่งออกเป็นเอ็นพีแอลที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี มีอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท นั้นธนาคารจะเป็นผู้จัดการเอง ส่วนเอ็นพีแอลที่มีอายุตั้งแต่ 3-5 ปี มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทนั้นจะว่าจ้างให้เอกชนภายนอกเข้ามาบริหารจัดการให้ ซึ่งธนาคารก็จะจ่ายผลตอบแทนให้ 7% ของยอดหนี้ที่ติดตามมาได้ และในหลักการของหนี้ที่ให้เอกชนภายนอกติดตามนั้นต้องเป็นหนี้ที่มีวงเงินกู้ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป และมีการค้างชำระตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป หากคิดตามคำนิยามดังกล่าวแล้วจะมีหนี้ที่เข้าข่ายอยู่ 20-30% ของยอดเอ็นพีแอลทั้งหมด

***เตรียมเปิดกรุขายเอ็นพีเอ

ส่วนเอ็นพีแอลที่มีอายุมากกว่า 5 ปี มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ก็จะทยอยขายออกไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนแผนจัดการกับทรัพย์สินรอการขาย หรือ เอ็นพีเอ ที่มีอยู่ 7 พันล้านบาทนั้นจะต้องทำการลดให้มากที่สุด โดยเฉพาะเอ็นพีเอ ที่อยู่กับธนาคารมานาน และในวันเสาร์ที่ 25 เม.ย.นี้ก็จะทำการเปิดประมูล เอ็นพีเอ มีการลดราคา เพื่อกำจัดเอ็นพีเอออกไป สำหรับกรณีของหนี้ส่วนขาด คือเป็นหนี้หรือเป็นทรัพย์ที่ได้ขายทอดตลาดออกไปแล้ว แต่ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ธนาคารก็ต้องเร่งขายออกไป ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

“นโยบายของธอส. คือต้องติดตามหนี้ หากไม่จำเป็นไม่ฟ้องลูกหนี้ ซึ่งในส่วนของเอ็นพีแอลได้ทำมาสเตอร์แพลนแล้ว แต่สิ่งสำคัญเราได้พยายามกันสินเชื่อดีไม่ให้ไหลมาเป็นเอ็นพีแอล แต่ที่ผ่านมา คนที่เคยผ่อนพอมาเจอปัญหาจะไม่มาคุยกับธนาคาร จึงหยุดผ่อน ทำให้ดอกเบี้ยวิ่งไปแล้ว สิ่งเหล่านี้เราจะลดดอกเบี้ยให้ได้เยอะ เพราะเรามีการรับรู้ดอกเบี้ยเงินต้นอยู่แล้ว และอะไรที่เรายังไม่ได้รับรู้ก็จะยกประโยชน์ให้กับลูกค้า เพราะฉะนั้นหากลูกค้าคิดว่าไม่ไหวก็ให้มาคุยกับธนาคารได้ ธนาคารจะพยายามช่วยให้ได้มากที่สุด”

นายขรรค์กล่าวว่า สำหรับการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ในการรีไฟแนนซ์นั้น ธนาคารจะต้องคุยกับลูกค้าก่อน หากลูกค้าไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ ธนาคารก็จะพิจารณาว่าจะปรับลดดอกเบี้ยได้หรือไม่ แต่ข้อด้อยของธอส.คือให้บริการได้เฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างเดียวซึ่งเสียเปรียบธนาคารพาณิชย์ทั่วไปเวลารีไฟแนนซ์แล้วจะนำ บัตรเครดิต สินเสื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มารวมกันและให้นำสินเชื่อบ้านมารีไฟแนนซ์ด้วย ทำให้ธอส.สู้ไม่ได้ ต้องยอมรับแต่สำหรับลูกค้าที่เป็นรัฐวิสาหกิจธนาคารให้ความสนใจมากโดยได้เสนอดอกเบี้ยพิเศษในปีแรกให้อีก 0.25%

***ขอเพิ่มทุน 5 พันล้านในงบปี 53

นายขรรค์กล่าวถึงแผนการเพิ่มทุนอีก 5,000 ล้านบาท จะเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาบรรจุเข้าในงบประมาณในปี 2553 เพราะหากได้เม็ดเงินเพิ่มทุนอีก 5 พันล้านบาท ก็จะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS ปรับตัวดีขึ้น เป็น 11-12% จากปัจจุบันธนาคารมี BIS อยู่ที่กว่า 10% ซึ่งทุนจดทะเบียนในปัจจุบันอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท มีเงินกองทุนอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ได้รวมกำไรสะสมเข้าไปแล้ว ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนขั้นที่1 ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 จำนวน 500 ล้านบาท ส่วนที่กระทรวงการคลังให้มา 5 พันล้านบาทแล้วนั้นจะนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน

ส่วนเรื่องสภาพคล่องในขณะนี้ธนาคารยังไม่มีปัญหา เพราะมีอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 12%ถือว่าอยู่ในภาวะที่เหมาะสม ไม่มากไปไม่น้อยไป และที่สำคัญธนาคารไม่ได้นำเงินไปลงทุนอะไรที่มีความเสี่ยง แต่ก็ได้นำเงินดังกล่าวไปหาผลประโยชน์ด้วยการฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และที่สำคัญธนาคารต้องเก็บสภาพคล่องส่วนหนึ่งเอาไว้ด้วยเพราะ บริษัทเอกชนในขณะนี้ไม่สามารถไปกู้ยืมสถาบันการเงินต่างประเทศได้ ต้องหันมากู้ในประเทศแทน หากสภาพคล่องหายไปก็จะระดมทุนครั้งต่อไปลำบาก
กำลังโหลดความคิดเห็น