xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯปรับกลยุทธ์สู้ปีวัวดุ บล.ภัทรจ่อปลดพนักงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัทหลักทรัพย์แห่ปรับกลยุทธ์เพิ่มรายได้-หั่นค่าใช้จ่าย รับศึกปี 52 หลังคาดการณ์ตลาดหุ้นไทยซบเซาหนัก นายกสมาคมโบรกเกอร์ เผยบล.เล็งปิดสาขาลดต้นทุน ขณะที่บล.ขนาดเล็กมีโอกาสควบรวมกิจการสูง ด้านบล.ภัทร อาจต้องปรับลดเงินเดือน-จำนวนพนักงาน หากเหตุการณ์รุนแรง ด้านบล.บัวหลวง ยึดนโยบายหารายได้เพิ่ม ขยายช่องทางตลาดอนุพันธ์

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยถึง แนวโน้มธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ในปี 2552 ว่า ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นที่ซบเซา จะส่งผลต่อธุรกิจหลักทรัพย์ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียม (คอมมิชชัน) ลดลง ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์เองต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยในปี 52 บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งมีแนวโน้มปิดสาขาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาที่ไม่สามารถสร้างกำไรให้แก่บริษัทเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน

“รายได้ค่าคอมมิชชันที่ลดลงจะส่งผลต่อโบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ต่ำกว่า 2% ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ลำบากยิ่งขึ้น ทำให้หลายแห่งต้องขยายช่องทางเพิ่มขึ้นได้ให้มากขึ้น อาทิ รายได้จากวาณิชธนกิจ กำไรจากการลงทุนในพอร์ต ธุรกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) การเปิดซื้อขายสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (โกล์ด ฟิวเจอร์ส) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับหุ้นสามัญรายตัว ( Single Stock) ฯลฯ”

นายกัมปนาท กล่าวว่า ปัจจุบัน บล. ทรีนีตี้ มีมาร์เกตแชร์อยู่กว่า 2% แต่บริษัทพยายามจะรักษาส่วนแบ่งการตลาดระดับนี้ไว้ พร้อมกับการหารายได้อื่นมาเสริม โดยเฉพาะในธุรกิจอนุพันธ์ ที่จะยึดนโยบายรักษาอันดับให้อยู่ 1-3 อันดับแรก หรือมาร์เกตแชร์ ที่ 8-10% ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงกำไรจากพอร์ตลงทุนที่มีวงเงินลงทุนอยู่ที่ 100 ล้านบาท

บล.ภัทรเล็งปลดพนักงาน

นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA กล่าวว่า จากวิกฤตการเงินที่ลุกลามทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และปัญหาทางการเมืองในประเทศจะยังส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2552 รวมถึงส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ด้วย

“ตลาดหุ้นไทยในปีนี้คงไม่สดใส หรือดีกว่าปี 51 เท่าไรนัก เพราะนักลงทุนยังไม่มีความมั่นใจจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติเองให้น้ำหนักหรือความสำคัญตลาดหุ้นไทยน้อยมาก หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1% เล็กน้อย เทียบกับจีนที่นักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักลงทุนสูงเกือบ 50%”

สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับวิกฤตตลาดหุ้นในปี 2552 นั้น นายสุวิทย์ กล่าวว่า บริษัทยึดนโยบายหลักๆ คือ การขยายฐานนักลงทุนภายในประเทศให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น การขยายธุรกิจบริหารความมั่งคังให้กับลูกค้าส่วนบุคคล (Private Wealth) ซึ่งปัจจุบันมีสินทรัพย์ของลูกค้าภายใต้การบริหารของบริษัทอยู่ประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาท ลดลงจากกลางปี 51 ที่มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท จากภาวะตลาดหุ้นทรุดตัว แต่เพิ่มจากปี 2549 ที่มีมูลค่าสินทรัพย์แค่ 3 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันบริษัทยังปรับแผนการหารายได้จากเงินลงทุน (พอร์ต) โดยแบ่งเป็นเงินลงทุนระยะสั้นที่มีการซื้อขายทำกำไร วงเงินรวม 600 ล้านบาท และเงินลงทุนระยะยาวมูลค่า 1,200 ล้านบาท จากวงเงินที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท โดยจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพ ปัจจัยพื้นฐานดี และให้อัตราผลตอบแทนที่ดีในระยะ 3-5 ปี

นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดหารายได้เพิ่มแล้ว บริษัทได้มีแผนที่จะปรับลดต้นทุนการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างหนักบริษัทอาจจะตัดสินใจลดเงินเดือนพนักงาน หรือปลดพนักงานบางส่วน จากปัจจุบันที่มีจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 240 คน”

“ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเป็นภาระหนักสุด เพราะการดึงคนที่มีศักยภาพให้ร่วมงานจะต้องให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าโบรกเกอร์รายอื่นๆ แต่หากมีความจำเป็นหรือเหตุการณ์ณ์เลวร้ายสุดๆ เราอาจจะต้องปรับลดเงินเดือน หรือลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งจะพิจารณาใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะเราต้องคำนึกถึงผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นไว้” นายสุวิทย์ กล่าว

บัวหลวงรุกตลาดอนุพันธ์

นายเผดิมภพ สงเคราะห์ รองกรรมการผู้จัดการ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS กล่าวว่า ในปี 2552 บริษัทจะเน้นทำธุรกรรมในตลาดอนุพันธ์ (TFEX) มากขึ้น หลังจากภาวะเศรษฐกิจย่ำและและตลาดหุ้นไทยผันผวน ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ โกลด์ฟิวเจอร์ (Gold Futures) ตราสารทางการเงินอื่น ฯลฯ

สำหรับธุรกิจด้านรายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในปี 2552 ให้มากขึ้น และก้าวขึ้นตำแหน่ง 1-5 ของบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด จากปัจจุบันสำรวจเมื่อวันที่ (29 ธ.ค.) อยู่ในอันดับที่ 6

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในปีหน้ายังไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน (Lay OFF) แม้ว่าหลายฝ่ายคาการณ์ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเลวร้ายที่สุด แต่ในทางกลับกันบริษัทจะรับพนักงานในส่วนพนักงานขาย (มาร์เก็ตติ้ง) เพิ่มขึ้น เพื่อหวังขยายฐานลูกค้าไปยังต่างจังหวัด เนื่องจากผู้ลงทุนในส่วนนี้ยังมีความสามารถในการลงทุนเพียงแต่ขาดความรู้และความเข้าใจในการลงทุน อีกทั้งเมื่อวันเที่ 1 ธันวาคม 2551 บริษัทได้เปิดสาขาใหม่ที่จังหวัดนครราชสีมา

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า ธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 2552 มีโอกาสจะย่ำแย่กว่าปี 2551 ที่ผ่านมา หากประเมินดัชนีเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 440 จุด มูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ปที่กว่า 3 ล้านล้านบาท เฉลี่ยมูลค่าซื้อขายรายวันที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของธุรกิจหลักทรัพย์แน่นอน

ขณะเดียวกัน รายได้จากธุรกรรมงานด้านอื่นลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งค่าธรรมเนียมในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรจากพอร์ตลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น