จนท.ตรวจสอบบัญชี ซึ่งเตรียมลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ในสหรัฐฯ คาดวิกฤตสินเชื่อรอบนี้ ส่งผลกระทบตัวเลขว่างงานในนิวยอร์กพุ่งแรงถึง 165,000 ตำแหน่ง ผู้ว่าการฯ ยอมรับย่านวอลสตรีทกระทบหนักสุด พร้อมสั่งหั่นงบประมาณลง 2.5% และหั่นลงอีก 5% ในปีหน้า พร้อมคาดการณ์ยอดขาดดุลพุ่ง 2.3 พันล้านดอลลาร์
วันนี้ (15 ต.ค.) นายวิลเลียม ธอมสัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบบัญชีประจำกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเตรียมลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ในปีหน้า กล่าวคาดการณ์ว่า ตัวเลขว่างงานในนิวยอร์กอาจมีอยู่มากถึง 165,000 ตำแหน่ง รวมถึงตัวเลขว่างงานในภาคการเงิน เนื่องจากวิกฤตการณ์สินเชื่อที่ลุกลามไปทั่วประเทศ
"ตัวเลขว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตการณ์สินเชื่อได้ลุกลามเข้าไปสร้างความเสียหายในภาคส่วนอื่นๆของประเทศ ซึ่งจะฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐให้ถดถอยเร็วขึ้น"
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุในรายงานว่า ย่านวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจที่ทำรายได้กว่า 9% ของรายได้ทั้งหมดในมหานครนิวยอร์กในปี พ.ศ. 2550 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ส่งผลให้สถาบันการเงินยักใหญ่อย่างเลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย อีกทั้งทำให้เมอร์ริล ลินช์และแบร์ สเติร์นส์ ต้องขายกิจการ และเป็นเหตุให้สถาบันการเงินทั่วโลกขาดทุน และปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีเป็นวงเงินกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์
นายไมเคิล บลูมเบิร์ก ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก กล่าวยอมรับว่า การที่บริษัทหลายแห่งในวอลล์สตรีทยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลายจะยิ่งทำให้ตัวเลขว่างงานในปีนี้พุ่งสูงขึ้นอีก และที่หนักกว่านั้นคือบริษัทเหล่านี้ไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับสำนักงานภาษีกรุงนิวยอร์กเป็นเวลาหลายปี
ทั้งนี้ บลูมเบิร์กได้สั่งการให้สำนักงบประมาณนครนิวยอร์ก ปรับลดงบประมาณรายจ่ายในปีนี้ลง 2.5% และ 5% ในปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณของนิวยอร์กมีอยู่อย่างน้อย 2.3 พันล้านดอลลาร์
นายดั๊ก ตูเรตสกี โฆษกสำนักงานงบประมาณกรุงนิวยอร์ก กล่าวว่า ตัวเลขว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐใกล้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย และภาคการเงินในกรุงนิวยอร์ก มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่