xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ประสานเสียงกนง.คงอาร์พี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแบงก์เห็นพ้อง กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 3.75%ในการประชุมวันที่ 8 ต.ค.นี้ เอ็มดีแบงก์ไทยเครดิตเพื่อรายย่อยชี้ดอกเบี้ยเงินฝากของแบงก์พาณิชย์จะยังแข่งขันกันรุนแรง ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้น่าจะยังคงไว้ที่เดิม ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน กนง.ให้น้ำหนักเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากกว่าเงินเฟ้อที่เริ่มคลายตัวลง และยังต้องจับตาวิกฤตสหรัฐต่อเนื่อง

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ประเมินค่อนข้างยากว่าจะเดินไปในทิศทางใดในช่วง 6 เดือนข้างหน้ารวมถึงในระยะยาว เนื่องจากจะต้องรอดูวิกฤตทางการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ในขณะนี้ยังไม่เห็นถึงจุดสิ้นสุดของปัญหา อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องของอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มมีการลดลงจาก 6.5% มาอยู่ที่ 6% นั้นก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอยู่ จึงทำให้มองว่าอัตราดอกเบี้ยต่อจากนี้น่าจะยังทรงตัวอยู่ที่ระดับเดิม

ทั้งนี้ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ผลการประชุมจึงน่าจะยังให้มีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้เช่นกัน แต่ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในด้านของเงินฝากนั้นน่าจะยังคงมีการปรับตัวสูงขึ้นเนื่องมาจากการแข่งขันของธนาคารแต่ละแห่งเพื่อรักษาสภาพคล่องไว้ให้ได้มากที่สุด ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้นเชื่อว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิม เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภค

"ทิศทางดอกเบี้ยในระยะยาวตอบไม่ได้เลยว่าจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่าในตลาดจะยังมีความกังวลเรื่องของภาวะเงินตรึงตัวและค่าเงินเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก คงจะยังทำให้อัตราดอกเบี้ยจะยังคงมีความผันผวนอยู่ ส่วนการประชุมรอบนี้ของ กนง. คงจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ซึ่งอยากแนะนำผู้ฝากที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างดีในช่วงนี้
เพราะแต่ละแบงก์ยังคงแข่งขันกันสูง โดยให้ผู้ฝากเงินทำการฝากเงินในระยะยาว 6-9 เดือนไว้ก่อน ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยปีหน้าต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลก"

สำหรับปัญหาทางการเงินของสหรัฐฯในขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกหรือไม่ และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ อีกทั้งทางสหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงของการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และจากปัญหาในต่างประเทศนี้คงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเราอย่างชัดเจน ผ่านภาคการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ดังนั้นการจะฟื้นเศรษฐกิจของไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุน ถ้าหากทำได้ดีก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีได้

ด้านปัจจัยทางการเมืองในขณะนี้ถือว่าเป็นวัฎจักรหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ที่การเมืองจะต้องมีการพัฒนาและมีการจัดการที่ชัดเจน ดังนั้นจึงให้ขอให้กำลังใจกับทุกฝ่าย

**กสิกรฯ คาด กนง.คงดอกเบี้ย**

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในการประชุมกนง.ครั้งนี้ อาจโน้มเอียงที่จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับที่ค่อนข้างต่ำคือ 3.75% เช่นปัจจุบัน ทั้งนี้ จากความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นชัดเจน จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2551 บ่งชี้ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญปรับตัวในทิศทางที่ชะลอลงแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน และแนวโน้มในอนาคตเครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็อาจยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวในทิศทางที่ไม่สดใส โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญๆ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปี 2552 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลมากเท่าในอดีต หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีแนวโน้มทรงตัวใกล้ระดับปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง ก็น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนเอื้อให้ทางการไทยมีทางเลือกมากขึ้นในการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับความผันผวนจากภายนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 12 เดือนที่แท้จริง ที่ยังมีค่าติดลบอยู่ที่ร้อยละ 4.18 ในเดือนสิงหาคม 2551 และการที่ กนง.เพิ่งจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาในการประชุมสองรอบก่อนหน้า (16 กรกฎาคม และ 27 สิงหาคม) ก็อาจจะเป็นการเร็วเกินไปที่ กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันที่ 8 ตุลาคมนี้

นอกจากนี้ ความเสื่อมถอยของสถานะด้านเครดิต อาจทำให้ธนาคารกลางหลักจำต้องลดดอกเบี้ยลงในไม่ช้า จากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะสภาพคล่องในตลาดการเงินทั่วโลก และกำลังลุกลามไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ดังนั้น ในระหว่างนี้จนกว่าจะถึงวาระปกติสำหรับการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2551 และของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 นั้น หากสถานการณ์ทางด้านเครดิตปรับตัวไปในทิศทางที่เลวร้ายลง จนส่งผลกระทบต่อภาวะสภาพคล่องของภาคธุรกิจเอกชน หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด ก็มีความเป็นไปได้ที่ทั้งเฟดและอีซีบีอาจจะต้องตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉินในไม่ช้านี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น