สหภาพ ปตท.สบช่องตอบแทนบุญคุณ รบ.นอมินี ปลุกสมาชิกสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ 13 องค์กร แถลงข่าวต้านมติ สรส.ยันไม่เกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมือง พร้อมชี้ช่องให้รัฐบาลใช้กฎหมายแรงงานเข้าเล่นงานได้ทันที
วันนี้ (1 ก.ย.) นายณฐกร แก้วดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในฐานะประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สพรท.) กล่าวถึงแผนการต่อต้านมติของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่นัดหยุดงานในวันที่ 3 ก.ย.นี้ เพื่อต่อต้านรัฐบาลขายชาติของ นายสมัคร สุนทรเวช โดยระบุว่า แกนนำพนักงานรัฐวิสาหกิจ 13 แห่ง ที่เป็นสมาชิกของ สพรท.จะไม่ยอมเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และจะล็อบบี้เพื่อไม่ให้มีการนัดหยุดงาน
ทั้งนี้ นายณฐกร อ้างว่า สพรท.มีจุดมุ่งหมายในการจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเรื่องปัญหาแรงงานเป็นสำคัญ โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะหากต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองก็ควรไปสมัครเป็นนักการเมืองโดยตรงน่าจะดีกว่า
สำหรับสมาชิก สพรท.เป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สร.) จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย, สถาบันการบินพลเรือน, องค์การสะพานปลา, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจำนวนพนักงานที่เป็นสมาชิกของ สร.ไม่เกิน 1 แสนคน จากจำนวนพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเกือบ 5 แสนคน จาก 60 องค์กร ขณะที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มีสมาชิกเป็น สร.43 แห่ง ซึ่งมีจำนวนสมาชิกของ สร.ประมาณ 2 แสนคน
ขณะที่ นายธีรพงษ์ กฤษฎาธีระ รองประธานสหภาพ ปตท.ในฐานะโฆษก สพรท.ออกมากล่าวโจมตีมติของ สรส.อย่างรุนแรง โดยชี้ว่า การที่ สรส.มีมติออกเช่นนี้ จะเป็นผลเสียต่อองค์กร เพราะก่อนหน้านี้ออกมาประกาศที่จะปกป้องรักษาองค์กรไว้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่กลับมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
“พวกคุณเคยบอกว่าการแปรรูปไม่ดี คนอื่นจะเข้ามาทำก็ตีกันไว้ แต่คุณทำกันอย่างนี้ทำให้ประชาชนเอือมระอากับการทำงานอย่างนี้” นายธีรพงษ์ กล่าว และข่มขู่เพิ่มเติมว่า
หากพนักงานรัฐวิสาหกิจที่หยุดงาน หรือเฉื่อยงานโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการยื่นข้อเรียกร้องและเจรจาเกี่ยวกับสภาพการจ้างถือเป็นความผิดตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบด้าน
ขณะที่มีสมาชิก รสก.ตั้งข้อสังเกตุว่า การออกมาเคลื่อนไหวของแกนนำสหภาพแรงงาน ปตท.เพื่อหนุนรัฐบาลในครั้งนี้ อาจเกี่ยวข้องกับการตอบแทนรัฐบาล เพื่อให้เอื้อเงินงบประมาณและออกนโยบายเอื้อประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่ผู้บริหารขององค์กรเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์โยงใยลึกซึ้งกับนักการเมืองหลายคนในรัฐบาล ขณะที่แกนนำ รสก.บางแห่ง ก็ตกเป็นเครื่องมือของผู้บริหาร โดยมีผลประโยชน์แอบแฝง