xs
xsm
sm
md
lg

LANNA ถูกเพิกถอนสัมปทานถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลานนารีซอร์สเซส ยันการเพิกถอนสัมปทานถ่านหินแหล่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย ไม่กระทบผลการดำเนินงาน อ้างสามารถดำเนินการต่อได้อีก 2 แหล่งและราคาถ่านหินปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นายพิลาศ พันธโกศล กรรมการบริหาร บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือ LANNA กล่าวว่า ตามที่ PT. CITRA HARITA MINERAL (CHM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซียที่ LANNA ถือหุ้นอยู่ 55 % ของทุนที่ชำระแล้ว ได้ทำสัญญา COAL MINING COOPERATION AGREEMENT (สัญญาCMCA) กับ PT. CAHAYA TIARA (CT) (ชื่อเดิม CV. CAHAYA TIARA) แห่งประเทศอินโดนีเซีย ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2547 เพื่อลงทุนสำรวจและทำเหมืองถ่านหินในเขตสัมปทาน KP LICENSE ของ CT (แหล่งถ่านหินแหล่งที่ 2) ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่ง CHM มีสิทธิทำเหมืองถ่านหินออกจำหน่ายได้จนถึงปี 2557 ปัจจุบันมีปริมาณสำรองถ่านหินในแหล่งนี้คงเหลือประมาณ
1.37 ล้านตันนั้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2551 PT. CITRA HARITA MINERAL ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจาก PT. CAHAYA TIARA (CT) ว่าศาลฎีกาแห่งประเทศอินโดนีเซียได้พิพากษาให้เพิกถอนสัมปทาน KP LICENSE ที่ CT ให้ CHM เช่าช่วงตามสัญญา CMCA ตามข้อพิพาทระหว่างภาครัฐกับผู้ถือสัมปทานเดิมในพื้นที่ดังกล่าว โดย CHM และ CT มิได้เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องที่พิพาท ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย (FORCE MAJEURE) โดยขอยกเลิกสัญญา CMCA และข้อตกลงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดย CHM ต้องหยุดการทำเหมืองถ่านหินออกจำหน่ายในเขตสัมปทาน KP LICENSE ที่เช่าช่วงจาก CT ดังกล่าวทันที อย่างไรก็ตาม แม้สัมปทานแหล่งถ่านหินแหล่งที่ 2 ในประเทศอินโดนีเซียจะถูกยกเลิกไปแต่ LANNA ยังมีการลงทุนในแหล่งสัมปทานถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียอีก 2 แหล่ง ที่สามารถรองรับการจำหน่ายถ่านหินในอนาคต

สำหรับแหล่งสัมปทานถ่านหินทั้ง 2 แหล่ง คือ แหล่งที่ 1 เจ้าของสัมปทานคือ PT. LANNA HARITA INDONESIA (บริษัทย่อยที่จดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย มี LANNA ถือหุ้นทางตรงอยู่ 55% ของทุนที่ชำระแล้ว) โดยได้รับสัมปทาน COAL CONTRACT OF WORK จากรัฐบาลอินโดนีเซียโดยตรงเพื่อผลิตถ่านหินออกจำหน่ายมีกำหนด 30 ปี จนถึงปี 2574 ซึ่งยังมีปริมาณสำรองของถ่านหินที่จะทำเหมืองได้ (MINEABLE RESERVE) มากกว่า 15 ล้านตัน ปัจจุบันผลิตถ่านหินออกจำหน่ายปีละประมาณ 1.50 ล้านตัน

แหล่งที่ 3 เจ้าของสัมปทานคือ PT SINGLURUS PRATAMA (บริษัทย่อยที่จดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย มี LANNA ถือหุ้นทางอ้อมอยู่ 65% ของทุนที่ชำระแล้ว) ได้รับสัมปทาน COAL CONTRACT OF WORK จากรัฐบาลอินโดนีเซียโดยตรงเพื่อผลิตถ่านหินออกจำหน่ายมีกำหนด 30 ปี นับจากวันที่เริ่มผลิตถ่านหินออกจำหน่าย ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะมีปริมาณสำรองถ่านหินมากกว่า 25 ล้านตัน โดยจะเริ่มผลิตถ่านหินจากแหล่งนี้ออกจำหน่ายได้ปลายปี 2551 โดยมีกำลังการผลิตถ่านหินในปีแรก (ปี 2552) ประมาณ 1 ล้านตันและจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตันในปีต่อ ๆ ไป

นายพิลาศกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ปริมาณการจำหน่ายถ่านหินในปี 2551 จะลดลงจากการหยุดการทำเหมืองถ่านหินแหล่งที่ 2 ของ CHM ดังกล่าวข้างต้น แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ LANNA และบริษัทย่อยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากราคาถ่านหินมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปี50 อย่างมีนัยสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น