xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯยันขึ้นดบ.ไม่กระทบปล่อยกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสิกรไทยยันสินเชื่อทั้งปียังน่าจะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้มีการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ตาม ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีและ K-Supply Chain Solution ยังเติบโตต่อเนื่อง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า การปล่อยสินเชื่อในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมายังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และจากการที่ธนาคารได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ขึ้นไปนั้นจะไม่มีผลต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแต่อย่างใด เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงทำให้ธนาคารยังคงเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อทั้งปีไว้เท่าเดิม

นายชาติชาย สุนทรเกียรติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารยังคงมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 60,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน เนื่องจาก 5 เดือนที่ผ่านมาธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วเกือบ 50% ของเป้าหมาย ถึงแม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผ่านมาอาจจะมีผลกระทบต่อลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีสินเชื่ออิงกับอัตราดอกเบี้ยลูกค้าเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) บ้างก็ตาม

ส่วนสินเชื่อ K- Supply Chain Solution ขณะนี้สามารถปล่อยสินเชื่อไปได้แล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท เป็นจำนวนลูกค้า 300-400 ราย หรือประมาณ 30 เครือข่ายธุรกิจ โดยเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวทั้งปีตั้งไว้ที่ 20,000 ล้านบาท ซึ่งแม้ยอดการปล่อยสินเชื่อในปัจจุบันยังห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ธนาคารยังคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อดังกล่าวได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน เนื่องจากขณะนี้มีคำขอสินเชื่อดังกล่าวที่รอการอนุมัติอยู่ค่อนข้างมาก และการอนุมัติสินเชื่อก็จะมีความรวดเร็วเพราะการพิจารณาสินเชื่อจะดูจากข้อมูลของการทำธุรกิจทั้งเครือข่าย

"ตอนนี้ที่เข้ามาเป็นลูกค้ามีอยู่หลายกลุ่มทั้งกลุ่มการค้า อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยสินเชื่อในช่วงหลังจากนี้จะมีการเร่งตัวมากขึ้น เพราะการพิจารณาสินเชื่อนี้จะเป็นการดูทั้งสายธุรกิจ ซึ่งจะพิจารณาง่ายกว่าการพิจารณาเป็นราย ๆ"

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ของไทยแห่งแรกที่เปิดให้บริการสินเชื่อ K-Supply Chain Solutions ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับเครือข่ายธุรกิจเพื่อเพิ่มความคล่องตัวด้านการเงินและธุรกิจให้แก่ผู้ค้ารายใหญ่ (Sponsor) ผู้ขาย (Supplier) และผู้ซื้อ (Buyer) โดยธนาคารจะเข้าไปเป็นตัวกลางเชื่อมโยงธุรกิจของเครือข่าย และรับความเสี่ยงแทนลูกค้าและคู่ค้า โดยจะเข้าไปสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่ผู้ขาย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือสินค้าป้อนให้ผู้ค้า รายใหญ่ และผู้ซื้อที่เป็นผู้แทนจำหน่ายของผู้ค้ารายใหญ่ เพื่อช่วยให้ห่วงโซ่ธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างคล่องตัว มีต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่าการกู้เงินทั่วไป ซึ่งบริการสินเชื่อเพื่อเครือข่ายธนกิจกสิกรไทยจะสามารถรองรับเครือข่ายธุรกิจตั้งแต่ระดับ 10 ราย จนถึงระดับ 1,000 ราย ต่อเครือข่ายธุรกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น