xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กโยธาฯ หนักใจมาตรา 39 ทวิ เล็งหารือภาคเอกชนแก้กฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมโยธาธิการฯ ยอมรับกฎหมายบางประเภทไม่เอื้ออำนวยต่อการปฎิบัติ ยอมรับอาจแก้ไขกฎหมายควบคุมอาคาร หลังเอกชนอาศัยมาตรา 39 ทวิ ก่อสร้างอาคารสูง ขณะที่สิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่าน หนักใจเป็นแค่ผู้ออกกฎหมาย ผู้ปฎิบัติคือหน่วยงานท้องถิ่น

แนวโน้มของการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมที่อาศัยมาตรา 39 ทวิ แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่เปิดช่องให้มีการก่อสร้างคอนโดฯได้ก่อน โดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานท้องถิ่น อย่างเช่น กรุงเทพฯ ออกใบอนุญาตก่อสร้าง โครงการเหล่านี้ กำลังถูกกระบวนการตรวจสอบถึงความไม่ถูกต้องของการก่อสร้างผิดไปจากแบบ จนส่งผลให้มีโครงการคอนโดฯของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เช่น บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน)และ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ต้องทำการปรับปรุงอาคารที่ก่อสร้างไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการโอนห้องชุดให้แก่ลูกค้า เนื่องจาก ยังต้องมีการพิจารณาในเรื่องของบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)อีกครั้งหนึ่ง
และยังรวมโครงการคอนโดฯอีกหลายแห่งที่สุ่มเสี่ยงอาจต้องดำเนินการใหม่

ล่าสุดจากปัญหาดังกล่าว นายสมชาย ชุ่มรัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาคารและผังเมืองรวม กล่าวยอมรับว่า กรมโยธาธิการฯมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย เพื่อจัดระเบียบต่างๆของการก่อสร้างให้เรียบร้อย แต่การปฎิบัติตามกฎหมาย จะเป็นของหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในส่วนของกรมโยธาธิการฯ มีแนวคิดที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมาย แต่จากการหารือกับฝ่ายกฎหมายของกรมฯ อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ เนื่องจากเป็นการปฎิบัติหน้าที่ที่ทับซ้อนการทำงานและเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

“ ในบางช่วงบางเวลา การออกกฎหมายก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัว แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปแล้ว กฎหมายเหล่านี้ ก็อาจจะไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ อย่าว่าแต่คอนโดฯในเมืองหลวงเลย ที่ได้รับข้อมูลมา ในจังหวัดชลบุรี ก็มีการเลี่ยงการก่อสร้างอาคารเช่นกัน ซึ่งในส่วนของกรมโยธาฯกำลังพิจารณาว่า จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายในบางมาตรา อย่างเช่น มาตรา 39 ทวิ ถึงกระนั้น หากมีการร้องเรียนมา ทางกรมโยธาฯสามารถที่จะแจ้งไปยังหน่วยงานท้องถิ่น เช่น ผู้ว่ากรุงเทพฯ เพื่อทำการตรวจสอบและรายงานมายังกรมฯโดยตรง แต่การจะให้กรมฯสั่งไปยังหน่วยงานท้องถิ่นคงไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ นอกจากจะแจ้งไปยังรัฐมนตรีที่ดูแลอยู่ ” นายสมชายกล่าว และย้ำว่า

หากต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.อาคารชุด จะเป็นเรื่องของมาตรา 39 ทวิ หรือมาตราอื่นๆแล้ว คงจะต้องมีการเชิญบริษัทเอกชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมหารือเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น