xs
xsm
sm
md
lg

Q1 เม็ดเงินกองทุนรวมวูบ! ECP หมดอายุฉุดทั้งระบบเหลือ 1.3 ล.ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคม บลจ. เผยเม็ดเงินลงทุนรวมไตรมาสแรกปีหนู วูบ 35,246 ล้านบาท ฉุดยอดรวมเอยูทั้งระบบเหลือ 1.39 ล้านล้านบาท เหตุกองอีซีพีทยอยหมดอายุ อีกทั้งนักลงทุนแห่พักเงินจากความไม่มั่นใจในอัตราดอกเบี้ย ด้านผู้จัดการกองทุนเชื่อมั่นไตรมาส2ฟื้น จากกระแสพันธบัตรเกาหลีฟีเวอร์ และจำนวนกองใหม่ที่จัดตั้งมีมากมาย

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (AIMC) ระบุว่า ตัวเลขยอดเงินลงทุนผ่านกองทุนรวมภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการลงทุน (เอยูเอ็ม) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.39 ล้านล้านบาท ลดลงจากเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2550 ที่ -35,246.11ล้านบาท คิดเป็น -2.47%

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ อันดับที่1.บลจ. ไทยพาณิชย์ จำกัด มีมูลค่าทรัพย์สินในไตรมาสที่1อยู่ที่ 290,928.47 ล้านบาท ลดลงจากเมื่อสิ้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา -10,565.95 ล้านบาท คิดเป็น -3.50% อันดับ 2 ได้แก่ บลจ. กสิกรไทย จำกัด มีมูลค่าทรัพย์สิน 219,789.31 ล้านบาท ลดลง -12,089.81 ล้านบาท คิดเป็น -5.21% อันดับ 3 คือ บลจ.บัวหลวง จำกัด มีมูลค่าทรัพย์สิน 145,124.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,031.76 ล้านบาท คิดเป็น 6.64% อันดับ 4 ได้แก่ บริษัท บลจ. ทหารไทย จำกัด มีมูลค่าทรัพย์สิน 128,535.48 ล้านบาท ลดลง -9,823.02 ล้านบาท คิดเป็น -7.10% และอันดับ 5 ได้แก่ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าทรัพย์สิน 112,400.37 ล้านบาท ลดลง -1,181.17 ล้านบาทคิดเป็น -1.04%

ขณะเดียวกัน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) หากแยกมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของแต่ละกองทุนจะพบว่า กองทุนประเภทตราสารทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2551อยู่ที่ 131,751.43 ล้านบาท ลดลงจากเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2550 อยู่ที่ -321.22 ล้าบบาท คิดเป็น -0.24% ส่วนกองทุนประเภทตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2551อยู่ที่ 925,750.82 ลดลงจากเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2550 อยู่ที่ -25,055.46 ล้านบาท คิดเป็น -2.46% ขณะที่ กองทุนประเภทกองทุนผสม มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2551อยู่ที่ 239,584.08 ล้านบาท ลดลงจากเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2550 อยู่ที่ -5,892.11 ล้านบาท คิดเป็น 2.40%

สำหรับ ประเภทของกองทุนนั้น ได้แก่ กองทุนประเภทอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดย เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2551อยู่ที่ 57,830.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2550 อยู่ที่ 1,218.40 ล้านบาท คิดเป็น 2.15% รวมทั้ง กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2551อยู่ที่ 38,491.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2550 อยู่ที่ 474.22 ล้านบาท คิดเป็น 1.25% ด้านกองทุนเพื่อการลงทุนในระยะยาว (LTF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2551อยู่ที่ 49,281.04 ล้านบาท ลดลงจากเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2550 อยู่ที่ -127.01ล้านบาทคิดเป็น -0.26% และกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2551อยู่ที่ 195,994.14 ล้านบาท ลดลงจากเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2550 อยู่ที่ -13,279.91 ล้านบาท คิดเป็น -6.35%

กำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ กล่าวถึงมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของทุกกองทุนที่ลดลงว่า ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมานั้นมีกองทุนประเภทที่ไปลงทุนในตั๋วเงินที่ออกโดยสถาบันการเงินในทวีปยุโรป หรือECP ครบกำหนดในช่วงไตรมาสแรก หลายกองรวมทั้งผลตอบแทนการลงทุนที่น้อยและผู้ลงทุนหาแหล่งลงทุนไม่ได้ นับเป็นอีดสาเหตุหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังไม่มั้นใจในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของดอกเบี้ย รวมถึงตลาดหุ้นที่มีความผันผวน ทำให้ผู้ลงทุนพักเงินไว้เพื่อนำเงินไปลงทุนแหล่งอื่น และการที่ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกธนาคารมีการระดมเงินฝากมากขึ้นโดยให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนส่วนหนึ่งนำเงินไปฝากกับธนาคาร

ทั้งนี้ ยืนยันว่าในส่วนของ บลจ.ไทยพาณิชย์ รวมถึงหลายๆ บลจ.มูลค่าทรัพย์สินอาจไม่ได้ติดลบมากอย่างที่ปรากฎ แต่เป็นเพราะกองทุนทีการกองทุนมีการจดทะเบียนเปิดกองใหม่ข้ามเดือน

ส่วนในไตรมาสที่ 2 นั้น นาย กำพล กล่าวว่า สถานการณ์จะดีขึ้นเพราะหลาย บลจ.จะขายกองทุนที่ไปลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ได้มากขึ้น ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทย นอกจากนี้ เงินที่นักลงทุนพักไว้จากไตรมาสแรกนั้นจะกลับเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น

สอดคล้องกับ นาง วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร บลจ. กสิกรไทย ที่กล่าวว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 นั้นมีกองทุนที่ไปลงทุน ECP ครบกำหนดอายุหลาย บลจ.ทำให้มูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนลดลง ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้ง ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาแบงก์มีการแย่งลูกค้ากับ บลจ.ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย

ส่วนแนวโน้มในไตรมาสที่ 2 นั้นจะมีกองทุน อีซีพี ที่ครบอายุมากขึ้นคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าจะมีตราสารหนี้อื่นเข้าไปทดแทนมากแค่ไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น