xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายสำหรับเศรษฐกิจไทย (4) : ทันเกม “ค่าเงิน” ตาม “พระหัตถ์ที่มองไม่เห็น” (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งผมเกริ่นว่า เรื่อง “ค่าเงิน” กำลังเป็นเกมลึกๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ และโภคภัณฑ์ต่างๆ

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ทฤษฎีเศรษฐกิจกำลังพิสูจน์ตนเองอีกครั้งหนึ่งว่า ราคาของสิ่งใดๆ ย่อมปรับไปตามอุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply) กลไกราคาทำหน้าที่เป็น Invisible Hand หรือ พระหัตถ์ที่มองไม่เห็นเพื่อผลักดันปัจจัยต่างๆ ราคาสินค้าต่างๆ จัดสรรทรัพยากรต่าง และรางวัลของแต่ละภาคส่วนอย่างเป็นธรรมที่สุด

ค่าเงินปอนด์เคยถูกโจมตีเพราะมีค่าสูงเกินความเป็นจริง ค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคก็เคยถูกโจมตีเช่นเดียวกัน ก็เพราะเหตุผลเดียวกัน คือ ค่าเงินสูงเกินความเป็นจริง

จะรู้ได้อย่างไรว่าค่าเงินสูงเกินความเป็นจริง ? ค่าเงินที่สูงเกินไป ช่วยให้สินค้านำเข้าถูก ประชาชนก็ยินดีซื้อสินค้านำเข้าเพราะถูกกว่าที่ผลิตในประเทศมาก และค่าเงินที่สูงไป ยังเป็นผลให้สินค้าส่งออกแพงเกินไป แข่งขันยาก

ผลที่ค่าเงินสูงเกินไป จึงวัดได้ง่ายจากการขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด คือพูดง่ายๆหน่อย คือ นำเข้ามากว่าส่งออกมาก และต่อเนื่อง ก่อนค่าเงินบาทต้องยอมอ่อนตัว เมื่อกลางปี 2540 ประเทศไทยก็นำเข้าสูงมาก ส่งออกไม่มากเท่า ก็ขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ สหรัฐอเมริกาในช่วงนี้

จุดที่อาจจะแตกต่างคือ มีคนมองและเกือบจะเชื่อว่า สหรัฐอเมริกาโจมตีค่าเงินชาวบ้านเพื่อกลั่นแกล้งคนอื่น !! (คิดอีกที ก็หาเหตุผลให้เข้าใจได้ยาก ว่าเป็นเช่นนั้นจริง เพราะเหตุใด ?) มาขณะนี้ คนก็อาจกล่าวหาว่า สหรัฐอเมริกโจมตีค่าเงินคนอื่น (ให้แข็ง) อีกเช่นกัน แต่หากมองอีกที ขณะนี้ เป็นเหมือนการโจมตีค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ของตนเองให้อ่อนลงมากกว่า

แต่มีคนไม่อยากให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อน นั่นคือ รัฐบาลจีน ยังอยากเห็นค่าเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งต่อไป เขาจะได้ยังส่งออกได้มากๆต่อไป หลักฐานคือ ระดับการสะสมเงินดอลลาร์ สรอ. แต่ก่อน ผมเคยสังเกตว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีพันธบัตรและหลักทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สูงที่สุด เดี๋ยวนี้ แชมป์คือประเทศจีนแล้วครับ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีเงินสกุลดอลลาร์คงคลังประมาณ 9 แสนล้านเหรียญ แต่รัฐบาลจีนมีถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญ !!! เป็นแชมป์โลกไปแล้ว

ประมาณว่า มีแรงขายดอลลาร์ (อุปทาน) เพื่อกดค่าเงินให้อ่อนลง เช่น การนำเข้าสินค้าจากจีน ก็ต้องขายดอลลาร์ซื้อหยวนเป็นแรงกดดันต่อดอลลาร์โดยธรรมชาติ รัฐบาลจีนก็เข้าซื้อ เพื่อเพิ่มแรงซื้อสนับสนุน (อุปสงค์) ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อไป

ผลของสถานการณ์นี้ก็คือ ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังแข็งเกินควร หยวนอ่อนเกินควร สหรัฐอเมริกาก็ยังขาดดุลต่อไป จีนก็ยังเกินดุลต่อไป ผลต่อประชาชน คนอเมริกันก็ยังซื้อของโดยเฉพาะที่นำเข้าจากจีนและภูมิภาคได้ถูกเกินไป (แม้ผมเองเคยซื้อไพ่มาเล่นเกมส์ที่เวียดนาม เข้าใจว่านำเข้าจากจีน ชุดละ 8 บาท ค่ากระดาษ และค่าพิมพ์ก็ยังไม่น่าจะได้เลย) มีความเป็นอยู่ดีเกินควร คนจีนก็ค่าแรงถูกเกินไป ซื้อของนำเข้าแพงเกินไป น้ำมันกำลังขึ้นมาก ถ้ายอมให้ค่าเงินแข็งหน่อย ค่าใช้จ่ายราคาน้ำมันที่คนจีนต้องจ่าย ก็จะถูกลงได้บ้าง

ในเมื่อจีนถือว่า ตนมีดอลลาร์เข้ามาทุกปีจากการเกินดุลการค้า ก็ใช้เงินมหาศาลนั้น “อุ้ม” ดอลลาร์ให้แข็งต่อไป หยวนอ่อนต่อไป (คนจีนก็จึงถูกกดค่าตัวในสกุลเงินสากลต่อไปโดยรัฐบาลจีน เพื่อให้แข็งขันได้มากๆๆต่อไป) สหรัฐอเมริกาก็คงต้องโต้ตอบด้วยการลดค่าเงินดอลลาร์ (Devalue) ด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ซื้อของแหลกจนราคาสินค้าต่างๆขึ้น น้ำมันขึ้น ทองคำขึ้น ทองแดงขึ้น แพลตตินัมขึ้น หลักทรัพย์สกุลเงินอื่นๆขึ้น ฯลฯ เรียกว่าเป็นนโยบาย (Inflationary) ซึ่งเรื่องเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในภูมิภาคในระยะสั้นเพราะมีเม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ มาเข้าหลักทรัพย์สกุลเงินเอเชีย (แต่ตลาดยังมีผลกระทบเรื่องอื่นเช่นความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกาและอาจเกิดความกลัวว่าจะลามไปทั่วโลก)

ผมเห็นว่าจีนเล่นเกมส์เสี่ยงมาก ที่เข้าไปอุ้มมากขนาดนั้น ลองคิดดูว่าค่าเงินเปลี่ยนแค่ 10% คล้ายๆบาทลดจาก 42 บาท/ดอลลาร์ เป็น 38 บาท/ดอลลาร์ จีนจะขาดทุน 1.3 แสนเหรียญ และถ้าเปลี่ยน 20% คล้ายๆบาทลดจาก 42 บาท/ดอลลาร์ เป็น 34 บาท/ดอลลาร์ จีนจะขาดทุน 2.6 แสนเหรียญ หรือแค่ประมาณ 8 ล้านล้านบาทคือมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของไทยทั้งประเทศ และมากกว่ามูลค่ารวมหลักทรัพย์ไทยทั้งตลาดฯ !!

เราเคยมีบทเรียนมาแล้ว คลังของเราเล็กนิดเดียว เมื่อเทียบกับตลาดเงินทั่วโลก เราเสียหายค่าเงินบนเงินกองทุนประมาณ 4 หมื่นล้านเหรียญในรอบที่แล้ว เราจึงไม่กล้าทุ่มสุดตัว หรือเกินตัวเหมือนครั้งที่แล้ว ต้องยอมให้ค่าเงินเคลื่อนไปตามตลาดบ้าง ไม่ฝืนเกินไป รอบนี้ อย่าซ้ำรอยครั้งที่แล้วก็แล้วกัน อย่าทำให้บาทแข็งเกินไป

ดังนั้น “อย่าออกพันธบัตรดอกเบี้ยสูง” มาดึงดูดการแลกดอลลาร์เป็นบาทมากขึ้นอันเป็นการทำร้ายตัวเองและทำร้ายประเทศ

สำหรับบ้านเรา ผมเห็นว่าลดดอกเบี้ยลงได้ครับ ในเมื่อมีเงินบาททะลักเข้า ใช้กลไกราคาตามหลัก “พระหัตถ์ที่มองไม่เห็น” ลดราคาของเงินฝาก โดยลดดอกเบี้ยลงมา เงินจะต้องหาที่ออกไป เป็นสกุลเงินอื่น เอกชนก็มีต้นทุนลดลง ในยามที่ตลาดสหรัฐกำลังอ่อนแอ ด้านหนึ่งเราควรหาตลาดประเทศใหม่ อีกด้านคือการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ สภาพที่สัดส่วนเงินกู้ต่อเงินฝากในระบบธนาคารยังต่ำ การกู้เงินเพื่อลงทุนต่างๆยังต่ำ ความเชื่อมั่นยังน้อย บริโภคยังต่ำ กระตุ้นได้แน่นอน และอย่ากังวลเรื่องเงินเฟ้อเลย เพราะเช่นเดียวกับที่คุณอภิสิทธิ์เคยพูดเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า “สถานการณ์มันเป็นเงินเฟ้อจากปัญหาเรื่องต้นทุน (Cost Push) ไม่ใช่เรื่องการบริโภคมากเกินไป (Demand Pull) (นานๆจะเห็นนักการเมือง พูดเรื่องเศรษฐศาสตร์อย่างเข้าใจลึกซึ้ง ตรงสถานการณ์จริง ต้องขอให้เครดิตหน่อย) การขึ้นดอกเบี้ยจะซ้ำเติมภาคเอกชนด้วยซ้ำ

ถ้าบาททะลัก “ลดดอกเบี้ย” ครับ ช่วยผ่อนภาระ ลดต้นทุนธปท. และลดความเสียหายของประเทศได้มากครับ

มนตรี ศรไพศาล
(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น