xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายสำหรับเศรษฐกิจไทย (2) : แทรกแซง "กลไกตลาด" อย่างรอบคอบ และเป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่เน้นว่า นโยบายที่จะนำประชาชนไทยให้ไปสู่ความเจริญ และความสุขแท้นั้น จะต้องเน้นที่การเพิ่ม "การผลิต" หรือ "คุณค่า" ของประชาชนไทย ไม่ใช่เน้นเพียง " ประชาชนจะได้อะไร (ง่ายๆ) ?" เหมือนการเลี้ยงดูอบรมลูกให้ลูกได้ดีนั้น ไม่ใช่เพียงการให้ลูก "ได้" อะไรเท่านั้น **แต่ต้องให้ลูก "เข้มแข็ง" และ "สามารถ" เพียงพอที่จะดูแลตัวเองและครอบครัวต่อไปได้อย่างยั่งยืน**

"ประชาชนต้องมาก่อน" "เพื่อแผ่นดิน" หรือ "พลังประชาชน" ก็มีความหมายในคัวที่ดี ๆ ทั้งนั้น **แต่สาระต้องเน้นที่การพัฒนาความรู้ความสามารถของประชาชน ให้ความสำคัญกับการศึกษา การส่งเสริมการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ และเน้นการให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการ "ผลิต" ได้มากขึ้น** เพื่อ "คุณค่า"ชีวิตได้มากขึ้นอย่าให้เพียงช่วยให้เข้าหาแหล่งเงิน (กู้) ได้ง่ายขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น !!

**"กลไกตลาด" เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลก ประชาชนไม่น้อยยังเข้าใจว่า รัฐบาลที่เก่งจริง ต้องฝืนกลไกตลาดได้ อย่าไปเชื่อเช่นนั้น**ผมขอยกตัวอย่างสัก 2 ตัวอย่าง ที่การบิดเบือนกลไกตลาดไม่ได้สร้างประโยชน์ที่แท้จริงครับ

1.น้ำมันในตลาดโลกแพง เราก็ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพง โอเปคดันราคาขายน้ำมันแพงขึ้น เราต้องซื้อแพงขึ้น จะทำให้ถูกลง ก็ไม่มีอะไรวิเศษ** เหมือนรัฐบาลที่แล้ว ตั้งกองทุนน้ำมันเข้ามารองรับ เพื่อหาเสียง แต่ก็ทิ้งภาระไว้เกือบแสนล้านบาท ต่อมาเราก็ต้องมารับภาระนั้นอยู่ดี** และเป็นช่วงที่น้ำมันแพงขึ้นมากขึ้นไปอีกเสียด้วย หรือหากให้รัฐบาลรับ **ก็คือเอาภาษีของประชาชนทั้งประเทศไปรับ กลายเป็นว่า เอาเงินของคนทั้งประเทศไปช่วยคนใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยกว่า และฐานะดีกว่า เมื่อรัฐอุดหนุน หรือตั้งกองทุนอุดหนุน คนก็จะยังไม่รู้สึกว่าน้ำมันแพง จึงไม่ประหยัดเท่าที่ควร** กลายเป็นช่วยกันให้คนไทยยังใช้น้ำมันมาก แล้วให้กองทุนน้ำมัน หรือภาครัฐจ่ายค่าน้ำมันเติมให้ โอเปคก็ยิ่งรวย เพราะคนใช้นึกว่าถูก แต่โอเปคก็รับไปเต็มๆ

2.ผลิตผลการเกษตรถูก เช่น บางช่วงที่ข้าวล้นตลาด มันล้นตลาด ฯลฯ ราคาก็จะตก (จริงไหม?) ก็เป็นหลักธรรมดา ถ้ามีคน 100 คน อยากเที่ยวบนเกาะท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง มีห้องพักแค่ 50 ห้อง ราคาค่าที่พักก็ขึ้นสูง แต่ถ้ามีห้องพักแข่งกัน 200 ห้อง ราคาก็คงตกต่ำสุดๆ เพราะขายห้องไม่ได้ก็หมดไป ผลผลิตการเกษตรก็เช่นกัน

บางครั้งการประกันราคาง่ายๆ จึงเป็นการ "แจกเงิน" ง่าย ๆ อีกเช่นกัน ด้านหนึ่งก็พอรับฟังได้ว่าเพื่อเกษตรกรซึ่งคนส่วนใหญ่ แต่การใช้เงินของคนไทยทั้งประเทศกับฐานเสียงเป็นพื้นที่ ๆ อาจจะยากที่จะเป็นธรรม และต้องถามกันจริงจังว่า จะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้จริงหรือไม่ ? **หากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เราควรเข้าใจว่าเพราะอะไร ? ก็เพราะผลผลิตมาก "ล้นตลาด" นั่นเอง ราคาที่ตกต่ำ ก็จะส่งสัญญาณ ให้ตลาดปรับตัว โดยผู้ผลิตน้อยลง แต่ถ้ารัฐบาลไปบิดเบือนตลาด ทำให้เกษตรกรก็ยังไม่ทราบว่าการผลิตล้นตลาด ก็ยังคงผลิตมากจนล้นตลาดต่อไป แล้วต้องมาลุ้นกับการอุ้มราคาต่อไปหรือไม่ ?**

ดังนั้น การใช้อำนาจบิดเบือนราคาตลาด จึงต้องพูดคุยให้ชัดว่า ทำเพื่ออะไร ? การบิดเบือนสัญญาณทางการตลาดจะเป็นผลดีหรือผลเสียอย่างไร ? ใครจะต้องรับภาระ ? เป็นธรรมเพียงพอ หรือเป็นผลดีต่อส่วนรวมจริงหรือไม่ ? เป็นนโยบายที่ต้องวิเคราะห์อย่างเข้าใจ ชี้แจงอย่างโปร่งใส ไม่ใช่ทำให้ประชาชนเชื่อว่า “เก่ง” ที่บิดเบือนตลาดได้

• ขณะนี้ นโยบายหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ คือนโยบายประกันราคาพืชพลังงานทดแทน ตอนแรกผมก็ไม่ชอบการบิดเบือนกลไกตลาด แต่เมื่อฟังจนครบถ้วนว่าเป็นเรื่องของพืชพลังงานทดแทน ซึ่งเมื่อน้ำมันแพงขึ้นมาจนขนาดนี้ เราก็ขุดเอาก๊าซธรรมชาติที่เรามีอย่างจำกัดในอ่าวไทยขึ้นมา จนไม่แน่ใจว่าลูกหลานจะมีใช้ถึงเมื่อไรแล้ว ก็เชื่อว่า ก็มีพืชพลังงานทดแทน จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการนำเข้าเชื้อเพลิง ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเชื้อเพลิงได้มาก **และที่สำคัญ ทำให้เกษตรกร

"แบ่งพื้นที่" ทำการเกษตรดั้งเดิม มาเป็น เกษตรทดแทนพลังงานได้ เชื่อว่าเกษตรกรพืชพลังงานทดแทนน่าจะได้ผลดี เกษรตกรสำหรับสินค้าเกษตรดั้งเดิม ก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะน่าจะลดปัญหาสินค้าล้นตลาดลงไปได้บ้าง ผู้ใช้น้ำมันก็น่าจะได้ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต่ำลัง ประเทศก็ประหยัดเงินตราต่างประเทศ การนำเข้าน้อยลง ดุลการค้าก็ดีขึ้น จีดีพีก็ดีขึ้น เป็นประโยชน์อย่างลงตัวจริงๆ**

ผมจึงหวังว่า นักการเมืองจะเข้าใจ ประชาชนจะเข้าใจ **ว่าการ "บิดเบือน"กลไกตลาด เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น อาจไม่ได้ช่วยแก้ตัว "ปัญหา " ที่แท้จริง** ดังตัวอย่างที่ได้นำเสนอ 2 ตัวอย่างแรก น้ำมันที่แพงก็ไม่ได้ถูกลง แต่มีคนช่วยแบ่งจ่ายค่าน้ำมันเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่จากภาษีของราษฎร ก็จากผู้ใช้น้ำมันในยุคต่อมา (ซึ่งพวกเราก็ทราบผลของมันดี) ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ สะท้อนการผลิตที่ล้นตลาด ก็ยังคงล้นตลาดต่อไป ไม่นำไปสู่การผลิตที่เกิดคุณค่ามากขึ้น แต่ต้อง "อุ้ม" หรือ "ลุ้นให้อุ้ม" กันต่อไป นโยบายที่ดีต่อประเทศ จึงต้องคิดถึงการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง และจึงจะทำให้ประเทศชาติ เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยไม่ซ่อนภาระหรือผลักภาระไปให้ใครครับ

มนตรี ศรไพศาล
(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น