xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ดึงทุนเอกชนพัฒนาที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จุฬาลงกรณ์ฯ” เปิดแผนพัฒนาที่ดินเล็งพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์เพียบ พลิกตลาดสามย่านเป็นศูนย์ธุรกิจมูลค่ากว่า 4,500 ล้านบาท พร้อมเปิดเอกชนพัฒนาหอพักบนเนื้อที่ 100 ไร่ ย่านตลาดเชียงกง เตรียมเปิดประมูลหาผู้ลงทุนสร้างโรงแรมขนาด 400 ห้องที่สยามสแควร์ ล่าสุดสภาจุฬาฯอนุมัติเม็ดเงิน 2,200 ล้านบาท ที่เป็นค่าเช่าจากเอ็มบีเค งวดแรก พัฒนาโครงการ 50 โครงการ แผน 5 ปี

คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการลงนามในสัญญาให้สิทธิใช้ประโยชน์ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ บริเวณสี่แยกปทุมวัน กับบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ว่า จุฬาฯจะได้รับค่าเช่า จำนวน 2,518 ล้านบาท ส่วนค่าตอบแทนระยะเวลา 20 ปีเริ่มตั้งแต่ 22 เมษายน 2556 สิ้นสุด 21 เมษายน 2576 เป็นเงิน 22,860 ล้านบาท แบ่งชำระเป็นงวดๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 25,378 ล้านบาท โดยเอ็ม บี เค จ่ายงวดแรกจำนวน 2,200 ล้านบาทนั้น ทางสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อนุมัติให้นำรายได้ดังกล่าว มาจัดรวมอยู่ในแผนพัฒนาจุฬาฯในระยะ 5 ปี (2551-2555) ซึ่งมีแผนที่จะดำเนินการทั้งสิ้น 50 โครงการ

ด้านร.ศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวถึงแผนการพัฒนาที่ดินของจุฬาฯว่า ที่ดินของจุฬาลงกรณ์ฯ มีทั้งสิ้น 1,100 ไร่ แบ่งเป็นเขตการศึกษา 50% ให้หน่วยงานราชการเช่า 20% และอีก 30% เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมาจุฬาฯได้เพิ่มพื้นที่เขตการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา สนามศุภชลาศัยซึ่งเช่าพื้นที่กว่า 100 ไร่ ได้คืนที่ดินให้ 18 ไร่ ทางจุฬาได้นำไปสร้างคณะต่างๆ ล่าสุดในปีที่ผ่านมา ได้คืนพื้นที่เพิ่มมาอีกจำนวน 8 ไร่ ซึ่งเตรียมที่จะนำไปสร้างเป็น คณะศึกษาเกี่ยวกับการกีฬา

สำหรับแนวทางในการพัฒนานั้น จะแบ่งพื้นที่เขตการศึกษาออกจากพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยการใช้พื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยกั้นระหว่างกลาง ในเบื้องต้นจุฬาฯเตรียมพัฒนาที่ดินแบบยั่งยืน โดยจะนำพื้นที่ที่หมดสัญญาเช่ามาพัฒนา ได้แก่ 1. โครงการเซ็นเตอร์พ้อยท์ ล่าสุดบริษัทในเครือ ทีซีซี แลนด์ จำกัด ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ชนะการประมูล โดยจะพัฒนาเป็น ดิจิตอล ซิตี้ ซึ่งเป็นโชว์รูมและศูนย์รวมเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลกหรือในเอเชีย พัฒนาเป็นอาคาร 4 ชั้น ใช้เวลาสร้าง 8 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2551และเปิดใช้หรือต้นปี 2552

2.โครงการอาคารจอดรถและโรงแรมสยามสแควร์ นำที่ดินจำนวน 3 ไร่ ตรงข้ามโรงแรมโนโวแทล พัฒนาเป็นอาคารสูงประมาณ 30 ชั้น แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ชั้น 1-3 เป็นพื้นที่ร้านค้าให้เช่า ชั้น 4-10 เป็นลานจอดรถจำนวน 800 คัน มูลค่าการลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท โดยในส่วนนี้จุฬาฯ จะเป็นผู้ลงทุนเอง ขณะนี้ได้ว่างจ้างบริษัท PLAN เป็นผู้ออกแบบ คาดว่าในเดือนมกราคม 2551 จะเริ่มหาผู้รับเหมาและก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ กลางปี 2552 ซึ่งในระหว่างจะหาผู้ลงทุนพัฒนาโครงการโรงแรมต่อเนื่องจากชั้น 12 ขึ้นไปเป็นโรงแรม ระดับ 3 ดาวครึ่งจำนวน 400 ห้องโดยจะเปิดประมูลในไตรมาส 3 ปี 2551

3.โครงการศูนย์ธุรกิจสามย่าน โดยจะนำที่ดินบริเวณตลาดสามย่านที่จะหมดสัญญาเช่าในปี 2551 จำนวน 15 ไร่ มูลค่าที่ดินประมาณ 1,500 ล้านบาท มาพัฒนาเป็นอาคาสำนักงาน โรงแรม และร้านค้าหรือศูนย์สรรพสินค้า มูลค่าการลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งโครงการ 4,500 ล้านบาท ซึ่งจะต้องทำการเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในกลางปี 2551

สำหรับผู้ค้าในตลาดสดสามย่านนั้น เบื้องต้นจุฬาฯได้นำที่ดินขนาด 4 ไร่ บริเวณจุฬา ซ. 9 ข้างสำนักงานเขตปทุมวัน มูลค่าที่ดินประมาณ 600 ล้านบาท ใช้งบลงทุน 70 ล้านบาท เพื่อสร้างเป็นอาคารตลาดสดให้แม่ค้าได้ย้ายไปขายของในบริเวณดังกล่าวแทน

4. โครงการอินเตอร์เนชันแนลเฮาส์ ในแต่ละปีจุฬาฯจะมีนักศึกษากว่า 40,000 ราย เป็นนักศึกษาชาวต่างชาติ 5% และส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด รวมถึงเจ้าหน้าที่จึงมีความต้องการที่อยู่อาศัยใกล้มหาวิทยาลัย ดังนั้นจุฬาฯจึงมีแนวคิดที่จะสร้างที่พักระดับกลางให้แก่นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติได้เช่าอยู่อาศัย โดยจะนำพื้นที่จำนวน 100 ไร่ บริเวณตลาด เซียงกงสามย่าน ถนนบรรทัดทอง จากพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 300 ไร่ โดยในเฟสแรกจะพัฒนาบนเนื้อที่ 30 ไร่ เป็นอาคารหอพัก 4 อาคาร ประมาณ 1,000 ยูนิต มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลและพัฒนาได้ประมาณปี 2553 ส่วนที่ดินที่เหลืออีกเกือบ 200 ไร่จะพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท จุฬาฯจะต้องเข้าพระราชบัญญัติร่วมทุน โดยแต่ละโครงการจะเปิดให้เอกชนประมูลตามขั้นตอน
กำลังโหลดความคิดเห็น