xs
xsm
sm
md
lg

หลักธรรมสำหรับสถานการณ์ในไทย (32) : นโยบายที่ดี อาจไม่ถึงกับถูกใจ ... แต่ ... ต้องถูกหลักการ (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้แสดงความชื่นชม ต่อ ประธานาธิบดีบุช และ ประธานธนาคารกลางสหรัฐเบอร์นันเก้ ที่ให้นโยบายชัดเจนว่า ไม่ประสงค์ที่จะออกนโยบายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาซับไพรม์ ซึ่งอาจเกิดจากการเก็งกำไร จะช่วยเพียงผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านไม่ให้เสียบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณซึ่งเป็นสมบัติกลางของทุกคน อันมาจากภาษีของคนทั้งประเทศ

ผมว่า นโยบายที่ดีจะเป็นเช่นนี้ ต้องอยู่บนหลักการที่ดี และเป็นธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนเข้มแข็ง เป็นคนเก่ง คนดี คนขยัน คนสัตย์ซื่อ คนที่รักและคิดถึงกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่เอาเปรียบกัน ไม่ใช่เพียงเอาใจกันง่ายๆ โดยไม่สร้างสรรค์

เช่นเดียวกับการเลี้ยงดูเด็ก นโยบายพัฒนาให้เป็น “เด็กที่รักดี เข้มแข็ง ขยัน มุ่งพัฒนาตนเองเพื่อความพร้อมที่จะสร้างอนาคตที่ดี ให้รู้จักรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง และพร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย” ก็เป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย

แต่ถ้าให้เครื่องคอมพิวเตอร์ง่ายๆ ให้เล่นแต่เกมส์ ให้ยืมเงินซื้อมือถือได้ง่ายๆ อยากอ่านการ์ตูนก็ตามใจ จะได้ได้ใจ อยากเล่นอยากเที่ยวไม่อยากเรียนเพื่อพัฒนาตัวเองก็เอาใจจะได้ความนิยม ก็อาจได้ความนิยมจากเด็กได้มาก แต่จะดีกับเด็กจริงหรือ ? เมื่อเด็กโตขึ้น จะเข้มแข็งพอที่จะดูแลตนเองได้หรือ ?

เรื่องนโยบายของพรรคการเมืองก็เช่นกัน นโยบายที่เอาใจคนจำนวนมาก อาจไม่ดีต่อประเทศในระยะยาว และอาจจะไม่ดีต่อประชาชนที่นโยบายเอาใจโดนใจพวกเขาด้วย เพราะการหลอกล่อด้วยนโยบาย “ให้ง่ายๆ” อย่างที่รัฐบาลที่ดีจะไม่ให้ ก็อาจชนะใจคนส่วนใหญ่ได้ไม่ยาก ได้อำนาจมาไม่ยาก แต่บ้านเมืองก็ไม่ได้พัฒนาอย่างแท้จริง

ประชาธิปไตยจึงมีเสน่ห์ตรงนี้ ที่ผู้คนมากมาย ควรจะได้ติดตาม เรียนรู้ และพยายามที่จะ “รู้ทัน” เล่ห์กลการเมือง คนไทยแต่ละคน อาจรู้ข้อมูลไม่เท่ากัน เข้าใจไม่เท่ากัน เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะ “เปิดใจ” พูดคุย และแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้ประเทศพัฒนา เหมือนพัฒนาเด็กให้ “รักเรียน รักการพัฒนา” “รักดี คือรักความดี และรักที่จะทำดี” และ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” ไม่ใช่แต่เพียง “รักบริโภค” “รักการเอาใจกันง่ายๆ” “ไม่สนใจคุณธรรม” “ตัดสินความถูกผิด ด้วยการแบ่งพวกเขาพวกเรามากกว่าหลักฐาน และความถูกต้อง” ผมอยากลองยกประเด็นเปรียบเทียบนโยบายที่เห็น ดังนี้

1.นโยบาย “ใช้จ่ายเต็มที่ให้ได้ใจ โดยสร้างหนี้ หรือซ่อนหนี้” เทียบกับ “วินัยทางการเงิน” รัฐบาลที่แล้วมีนโยบายได้ใจมากมาย เช่น “พักหนี้เกษตรกร” มีติดป้ายทั่วไป “กองทุนหมู่บ้าน” ให้ชาวบ้านกู้ได้ง่ายๆ จริงๆผมเห็นว่า ที่ดีๆก็มีพอสมควร คล้ายๆโครงการปล่อยกู้สินเชื่อผู้กู้รายย่อยของธนาคารออมสินสมัยรัฐบาลก่อนๆหน้านั้น แต่หากมีเรื่อง “พักหนี้” เป็น campaign ที่เห็นควบคู่ไปด้วยก็เป็นความเสี่ยงสูง “วัวล้านตัว” ฯลฯ สิ่งที่เห็นก็คือ เมื่อใช้จ่ายเกินระดับงบประมาณที่เหมาะสม ก็เกิดปรากฏการณ์สร้างหนี้ และซ่อนหนี้มากมาย

ปกติการก่อหนี้โดยรัฐบาลจะต้องใช้พันธบัตร ผ่านกระบวนการงบประมาณอย่างรอบคอบ แต่ตั๋วเงินคลัง เป็นเครื่องมือของรัฐบาลเพียงระยะสั้น (คล้าย O/D ของเอกชน) เพียงเพื่อใช้กรณีที่เก็บภาษีตามงบประมาณตามเป้าได้ “ช้า” กว่าการจ่ายเงินตามงบประมาณ จึงออกตั๋วเงินคลังเพื่อใช้เงินไปก่อนได้ และเก็บภาษีตามมาคืนในภายหลัง โดยปกติจึงมียอดสูงขึ้นระหว่างปีเมื่อต้องใช้เงินก่อนที่จะเก็บภาษีได้ และลดลงเมื่อเก็บภาษีได้แล้ว

รัฐบาลที่รักษาวินัยทางการเงินในอดีต ได้พยายามรักษาระดับตั๋วเงินคลังเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ในการบริหารเงินสดระยะสั้น จะก่อหนี้ก็โดยใช้พันธบัตรตามกระบวนการ ยอดตั๋วเงินคลังตอนเริ่มรัฐบาลของอำนาจเก่า มียอดอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ยอดนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะๆ จนสูงสุด 2.5 แสนล้านบาทในเดือนกันยายน 2549 ก่อนเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลปัจจุบัน หลังจากนั้น รัฐบาลปัจจุบันได้ค่อยๆลดระดับตั๋วเงินคลังลงมาด้วยวินัยทางการเงินที่น่าชมเชย

เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว เราควรที่จะทบทวนว่า เรายังน่าจะชื่นชมรัฐบาลที่ใช้จ่ายเกินตัว สะสมหนี้เช่นตั๋วเงินคลังโดยไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณรัฐบาลอย่างรอบคอบอีกหรือ ภาระนี้ ก็ทิ้งให้ประชาชนผู้จ่ายภาษีในอนาคตอยู่ดี ดังเช่นการเอาใจด้วยการตั้งกองทุนน้ำมัน ดูเหมือนรัฐบาลสามารถทำให้น้ำมันไม่แพงตามตลาดโลกได้ แต่หลังเลือกตั้งแล้ว ต่อมา ประชาชนก็ต้องรับภาระนั้นอยู่ดี ทำให้น้ำมันแพงขึ้นเกินเหตุ

หรือเราควรจะให้ทุกรัฐบาลมีนโยบายที่มีความรับผิดชอบแทนที่จะเอาใจง่ายๆ และทิ้งภาระให้ประชาชนรุ่นหลังต่อไป (ต่อสัปดาห์หน้า)

มนตรี ศรไพศาล
(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น