xs
xsm
sm
md
lg

หลักธรรมสำหรับสถานการณ์ในไทย (24) : สิ่งที่ “น่ากลัว” คือ “ความกลัว” นั่นเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดังที่ผมได้สื่อ “สาร” สำคัญ ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นหลักการสำคัญที่เหมาะกับสถานการณ์ในไทย ในช่วงที่ผ่านมา คือ ปรัชญา Fear Factor ที่ว่า “สิ่งที่น่ากลัว คือ ความกลัวนั่นเอง”
ผมเพิ่งทราบว่า นั่นเป็นวาทะของ อดีตประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา คนที่ 32 Franklin D. Roosevelt ที่ว่า “The only thing that we have to fear is fear itself.”

ผมเห็นว่า ช่วงนี้ คนไทยมีความกล้าหาญ เข้มแข็งมากขึ้น ตื่นตระหนกยากขึ้น ผมเชื่อว่า นั่นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่แสดงความกล้าที่ประชาชนมีความเข้มแข็ง และจะทำให้ประเทศชาติเข้มแข็งไปด้วย และผมเชื่อว่า โดยปัจจัยอื่นอยู่คงที่ ความเข้มแข็งของประชาชนและนักลงทุน จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และตลาดหุ้นก็แข็งแรงขึ้นด้วย ดังจะเห็นว่าหุ้นก็ปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการซื้อขายหุ้นก็สูงขึ้นด้วย

ดังที่อดีตนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ของอังกฤษได้กล่าวหลังจากมีการลอบวางระเบิดรถไฟใต้ดินที่ลอนดอนว่า “ผู้ก่อการร้ายเขาไม่หวังดีต่อเรา เขาหวังจะโจมตีวิถีชีวิตของเรา เราต้องไม่ทำให้เขาทำสำเร็จ” ผมจำได้ว่าวันนั้น ตลาดหุ้นไทยตกแรงกว่าตลาดหุ้นลอนดอนเสียอีกด้วย

และหากเราไม่ตกใจง่ายๆ แม้อาจมีการก่อกวนความสงบอีก มีวินาศกรรมอีก แล้วเราไม่ตื่นตระหนกเกินไปได้ เราก็จะไม่ได้ช่วยผู้ก่อการร้ายขยายผลระเบิด เราก็จะได้ช่วยให้เศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบมาก ตลาดหุ้นก็ยังดีได้ต่อไป

ผมมีแรงบันดาลใจที่อยากสรุปหลักการคล้ายๆ กันนี้หลายชุด ได้แก่

กลุ่มที่ 1 : สิ่งที่น่ากลัว คือความกลัวนั่นเอง
สิ่งที่น่ากระวนกระวาย คือ ความกระวนกระวาย นั่นเอง
ในยามที่โมเสส กำลังพาประชาชนให้รอดพ้นจากการกดขี่ของฟาโรห์ผู้เรืองอำนาจแต่กดขี่ประชาชนชาวฮีบรู โมเสสได้พาประชาชนชาวฮีบรูนับล้านคนมาจนถึงทะเลแดง มีทหารของฟาโรห์ตามมามากมาย โมเสสจึงเตือนประชากรว่า "อย่ากลัวเลย มั่นคงไว้ คอยดูความรอดที่จะมาจากพระเจ้า ซึ่งพระองค์จะประทานให้แก่ท่านทั้งหลายในวันนี้ด้วยคนอียิปต์ ซึ่งท่านทั้งหลายเห็นในวันนี้ แต่นี้ไปจะไม่ได้เห็นอีกเลย” แล้วพระเจ้าก็บันดาลให้ทะเลแดงแหวกออก จนชาวฮีบรูผ่านไปได้ แต่เมื่อทหารฟาโรห์ตามมาก็กลับต้องจนน้ำทะเลแดงตาย

เมื่อโยชูวาผู้นำคนใหม่ที่ขึ้นมาแทนโมเสสจะเข้าไปยังแผ่นดินใหม่ คือแผ่นดินคานาอัน ได้รับคำสอนว่า “จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด”

มีคำสอนอีกว่า “อย่ากระวนกระวายถึงชีวิตของตนว่า จะเอาอะไรกิน หรือจะเอาอะไรดื่ม และอย่ากระวนกระวายถึงร่างกายของตนว่า จะเอาอะไรนุ่งห่ม ชีวิตสำคัญยิ่งกว่าอาหารมิใช่หรือ และร่างกายสำคัญยิ่งกว่าเครื่องนุ่งห่มมิใช่หรือ ? จงดูนกในอากาศ มันมิได้หว่าน มิได้เกี่ยว มิได้ส่ำสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงนกไว้ ท่านทั้งหลายมิประเสริฐกว่านกหรือ ? มีใครในพวกท่านโดยความกระวนกระวาย อาจต่อชีวิตให้ยาวออกไปอีกสักศอกหนึ่งได้หรือ ?”

หลายๆครั้ง ความกลัว ทำให้เกิดความกังวล และความกังวลทำให้เกิดความกระวนกระวาย ในช่วงเดินทางกับคณะนักศึกษา สถาบันวิทยาการตลาดทุนรุ่นที่ 4 (วตท. 4) ผมได้มีโอกาสเรียนรู้จาก อาจารย์ มารวย ผดุงสิทธิ์ อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไมเคิล เคนส์ (เจ้าของทฤษฎีเคนเซี่ยน ที่ใช้แก้วิกฤตเศรษฐกิจหลังสงคราม) ได้บอกว่า “เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีนั้น กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องของจิตวิทยามวลชน หรือ Mass Public Psychology)”

จึงไม่น่าแปลกใจที่ในยุคโลกาภิวัฒน์ ผู้ประสงค์ร้ายที่มีความรู้ดี แต่จิตใจมุ่งร้าย มุ่งโจมตีจิตใจและความรู้สึกของประชาชนหมู่มาก ถ้าคนส่วนใหญ่อยู่ในความกลัว ความกังวล และความกระวนกระวาย มีแต่คนอย่างขายของ แต่ไม่มีใครอยากหรือกล้าซื้อของ ทุกคนก็จะขายของไม่ได้ ขาดรายได้ อารมณ์ความสุขของประชาชน ความพร้อมที่จะกล้าจับจ่ายให้มีรายได้หมุนเวียนสะพัด (แต่อย่ากู้มาใช้จ่ายจนเกินตัว) จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ หลักธรรมที่ว่า “ยิ่งจับจ่าย ยิ่งมั่งคั่ง” ก็จะเกิดผล

และคำสอนที่ว่า “อย่ากลัวเลย มั่นคงไว้” “จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด” และ “อย่ากระวนกระวาย” จึงเป็นคำสอนที่จะช่วยกู้สถานการณ์ ให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ความทุกข์ยากในปัจจุบันได้อย่างแท้จริงครับ

กลุ่มที่ 2 : สิ่งที่น่าเศร้า คือ ความเศร้านั่นเอง
สิ่งที่น่ายินดี คือ ความยินดีนั่นเอง
สิ่งที่น่าเป็นทุกข์ คือ ความทุกข์ใจนั่นเอง
สิ่งที่น่าเป็นสุข คือ ความสุขใจนั่นเอง
สิ่งที่น่าเป็นน้อยใจ คือ ความน้อยใจนั่นเอง
สิ่งที่น่าเพียงพอ คือ ความพอเพียงนั่นเอง
ดังที่ผมได้เคยเรียนถึงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อีกว่า “ถ้าเศรษฐกิจดี คนก็มีความสุข” และ “ถ้าคนมีความสุข เศรษฐกิจก็ดี” “โลกนี้ มองว่าสุขก็สุข มองว่าทุกข์ก็ทุกข์” “ชีวิตของเรานี้ มองว่าสุขก็สุข มองว่าทุกข์ก็ทุกข์” ถ้าเราเรียนรู้ที่จะมองชีวิตอย่างพอเพียง ว่าเป็นสุข เราจะดำเนินชีวิตของเราไปตามปกติอย่างมีความสุข รักโลก รักชีวิต รักกันและกัน ไม่ต้องหนีชีวิตเช่นนี้ไปทางไหน และความสุขที่เรามีในชีวิต เราจะพร้อมที่จะแบ่งปันให้ทุกคนรอบข้าง ด้วยความรักที่เรามีต่อกัน

มีคำสอนว่า “บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม” ขนาดโศกเศร้า ก็ยังเรียนรู้ที่จะเป็นสุขได้ เพราะรู้ว่า เราจะได้รับการทรงปลอบประโลม

มีคำสอนอีกว่า “บุคคลผู้ใดมีใจถ่อม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก” หากเรามีใจถ่อมพอว่า ทุกสิ่งในชีวิตเรา เกิดจากการทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ และพระองค์ทรงยิ่งใหญ่จึงได้สร้างสรรพสิ่งมาอย่างดีเช่นนี้ และทรงสร้างชีวิตเรามาอย่างดีเช่นนี้ เราจะรู้สึก “พอเพียง” อย่างเป็นสุข ไม่ใช่ “พอเพียง” อย่างฝืนใจ หรือ น้อยใจ หรือ คอยเปรียบเทียบว่า “ทำไมเราจึงไม่มีเหมือนที่เขามี ?”

ในภาพยนตร์เรื่องไททานิค แจ็คมีเงิน 10 เหรียญในกระเป๋า แต่เขาไปที่หัวเรือ มองภูเขา ทะเล สายลม แสงแดด อย่างชื่นใจ แล้วตะโกนว่า “I’m King of the World.” แต่เคลดอน มหาเศรษฐีหลายหมื่นล้าน กลับไม่รู้จักพอ อยากได้ทุกอย่างเป็นของตัว แม้กระทั่งความรักก็ใช้เงินซื้อเอา และจิตใจก็ยังไม่เคยพอเพียง

ความถ่อมใจ และความวางใจ จะนำไปสู่ความพอเพียงและสันติสุขในหัวใจอย่างแท้จริง

กลุ่มที่ 3 : สิ่งที่น่าเสียใจ คือ คนไทยทำร้ายไทยนั่นเอง
สิ่งที่น่าดีใจ คือ คนไทยรักชาติไทยนั่นเอง
สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ คือ ความเป็นคนไทยนั่นเอง
ประเทศเราบอบช้ำมาพอสมควร กับความไม่แน่นอนทางการเมือง ความแตกแยกในสังคม เพราะมีแต่เพียงการพยายามให้ข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน ความเห็นแตกต่างเป็นเรื่องพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย จึงได้มีรัฐบาลฝ่ายบริหาร และฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบ ซักถาม จะได้เจาะลึกให้ชัดบนข้อมูล หลักฐาน ความจริงที่เท่าเทียมกัน การละเลยระบบรัฐสภาที่ผ่านมา หวังเพียงรักษาฐานความนิยมบนข้อมูลที่จำกัด ทำให้ประชาชนแตกแยก เพียงรู้สึกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้ที่รัก กับผู้ที่ไม่รัก จึงทำให้ความคิดของผู้คนถอยหลัง
บัดนี้ น่าจะได้เวลาสมานฉันท์ รักสามัคคี ถกเรื่องถูกผิดกันด้วยหลักฐาน รักและบำรุงประเทศชาติอย่างจริงใจ และเราจะภาคภูมิใจ ที่เราได้เป็นคนไทยอย่างแท้จริงครับ

มนตรี ศรไพศาล

(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น