xs
xsm
sm
md
lg

หลักธรรมสำหรับสถานการณ์ในไทย (13) : หลักธรรมว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงที่ผมได้ศึกษาหลักเศรษฐศาสตร์ ผมได้เห็นถึงหลักการและแนวความคิดที่หลากหลาย และทำให้ได้ทฤษฎีต่างๆ ที่มีเหตุมีผล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามหลักธรรมในพระคัมภีร์ เช่น

1. มนุษย์ถูกสร้างมาให้มีเสรีภาพ แม้กระทั่งการตัดสินใจเชื่อพระเจ้า หรือไม่เชื่อพระเจ้า มนุษย์ก็ยังเป็นผู้มีเสรีภาพในการเลือก หลักการเศรษฐศาสตร์ระบบตลาดเสรีนิยมที่มนุษย์ควรมีทางเลือก จึงเป็นหลักการที่พึงเคารพ การมีทางเลือก จึงหมายถึงการที่มีผู้ประกอบการหลายราย แข่งขันกันอย่างเป็นธรรมเพื่อไม่ให้ใครเอาเปรียบผู้อื่น ลองนึกว่าถ้ามีเอกชนผูกขาดข้าวหรือ น้ำ คิดแพงขึ้นเพียงจานละ 1 บาทสำหรับข้าว 1 สลึงสำหรับน้ำแต่ละแก้ว ซึ่งดูน้อยมาก แต่ก็เป็นการเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม และผู้ใช้อำนาจผูกขาดเอาเปรียบนั้น ก็ร่ำรวยโดยไม่ได้สร้างอะไรให้ผู้อื่น

2. หลักธรรมสูงสุด 1 ใน 2 ข้อ คือ รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ไม่ควรที่ใครจะใช้อำนาจผูกขาด อันเป็นการเอาเปรียบผู้อื่น เว้นแต่การผูกขาดนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น ระบบส่งไฟฟ้า ระบบท่อแก๊ส ซึ่งหากไม่ผูกขาดจะมีต้นทุนสูงขึ้น และคุณภาพบริการต่ำลง สิทธิผูกขาด จึงควรเป็นของสาธารณะของส่วนรวม ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งที่จะเอาเปรียบผู้อื่นเพื่อตนเองได้

***โดยผลของการแข่งขันตามกลไกตลาด หลักเศรษฐศาสตร์ถือว่า จะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นประโยชน์สูงสุด และเป็นธรรมที่สุด เสมือนการจัดสรรโดยพระหัตถ์ที่มองไม่เห็น (Invisible Hands) ซึ่ง ทำให้ผมนึกถึง พระหัตถ์ของพระเจ้า ที่ตั้งอยู่บนหลักเสรีภาพของมนุษย์และความรักต่อกันและกัน***

ซึ่งหลักธรรมหลายประการ ได้สนับสนุนหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่

1. ***ใช้ปัญญาให้รอบคอบ โดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยง*** มีหลักธรรมว่า "ผู้ที่มีสติปัญญาสร้างเรือนของตนไว้บนศิลา ฝนก็ตกและน้ำก็ไหลเชี่ยว ลมก็พัดปะทะเรือนนั้น แต่เรือนมิได้พังลง เพราะว่ารากตั้งอยู่บนศิลา แต่ผู้ที่โง่เขลา สร้างเรือนของตนไว้บนทราย ฝนก็ตกและน้ำก็ไหลเชี่ยว ลมก็พัดปะทะเรือนนั้น เรือนนั้นก็พังทลายลง และการซึ่งพังทลายนั้นก็ใหญ่ยิ่ง" ไม่ว่าเราจะเป็นผู้มีปัญญา หรือผู้โง่เขลา เราอาจเผชิญ ฝนตกหนักและน้ำไหลเชี่ยวได้ การจะทำการใด (เปรียบด้วยการสร้างเรือน) เช่น การใช้จ่ายเกินตัว (หากไม่เกินตัวก็ไม่เป็นไร) การกู้เงินเกินตัว (หากไม่เกินกำลังผ่อนก็ไม่เป็นไร) ฯลฯ จึงควรคำนึงถึงความเสี่ยงด้วยเสมอ เพราะเมื่อเผชิญความเสี่ยงแล้วนั้น การพังทลายก็อาจจะใหญ่ยิ่ง

2. ***คนเราถูกสร้างมาเป็นดังอวัยวะของกายเดียวกัน*** มีหลักธรรมว่า "พวกเราผู้เป็นหลายคนยังเป็นกายอันเดียวและเป็นอวัยวะแก่กันและกัน" ทุกอวัยวะถูกสร้างมาอย่างดี มีหน้าที่ทำประโยชน์เพื่อกันและกัน ตามีไว้มอง หูมีไว้ฟัง คิ้วมีไว้กันเหงื่อ ผมมีไว้กันร้อนกันหนาวสำหรับศีรษะ เท้ามีไว้เดิน ขุมขนมีไว้ระบายเหงื่อ ฯลฯ ทุกฝ่ายจึงเป็นประโยชน์ต่อกันและกัน พึ่งพากันและกัน และควรคำนึงถึงกันและกัน เราจึงต้องรักกัน และพระเจ้าผู้ทรงสร้างทรงรอบคอบมาก จึงมีหลักธรรมอีกว่า "เพื่อไม่ให้มีการแก่งแย่งกันในร่างกาย แต่ให้อวัยวะทุกส่วนพะวงซึ่งกันและกัน ถ้าอวัยวะอันหนึ่งเจ็บ อวัยวะทั้งหมดก็พลอยเจ็บด้วย ถ้าอวัยวะอันหนึ่งได้รับเกียรติอวัยวะทั้งหมดก็พลอยชื่นชมยินดีด้วย" ทุกฝ่ายจึงควรทั้ง "ทำ" เพื่อกันและกัน และ "รับ" เพื่อกันและกัน

ผมตีความทางเศรษฐศาสตร์ว่า เราแต่ละคนจึงมีอาชีพสุจริตของเราเพื่อทำประโยชน์แก่กันและกัน และพึง "รับ" ประโยชน์จากกันและกัน โดยแลกเปลี่ยนกันให้เป็นธรรมด้วย ทุกอวัยวะได้รับเลือดหล่อเลี้ยง และการจะได้รับเลือดหล่อเลี้ยงนั้น มือต้องหยิบอาหาร ตาต้องมอง ฟันต้องเคี้ยว ระบบย่อยอาหารต้องทำงานตั้งแต่ในปากจนถึงระบบขับถ่าย จนร่างกายได้รับพลังงาน จมูกต้องหายใจ ปอดต้องฟอกโลหิต หัวใจต้องสูบฉีดโลหิตทั่วร่างกายตามกระบวนการ

ผมสังเกต (ก) สิ่งต้องห้ามประการหนึ่งคือ อย่าเป็นมะเร็งในร่างกาย เพราะมะเร็งใช้อำนาจเหนืออวัยวะ ดูดประโยชน์จากร่างกายไปเป็นของตัว บางครั้งกว่าร่างกายจะรู้ตัว มะเร็งก็สูบจนตัวใหญ่โต และร่างกายก็ใกล้จะตาย และ (ข) สิ่งไม่บังควรคือ อวัยวะที่ทำงานน้อย และใช้บริการน้อย ลองคิดดูว่าหากมือระวังตัวมาก อยากมีชีวิตเพียงพอ หยิบกินลดลงเพื่อพอให้เพียงเลี้ยงตัวได้แค่ส่วนตัวคือมือ ร่างกายย่อมได้อาหารไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงทั้งร่างกาย และแม้ร่างกายมีกำลังพอ มือจะใช้บริการอวัยวะส่วนอื่นน้อยลง จะให้ตามองน้อยลง หูฟังน้อยลง ก็มิได้เป็นประโยชน์

เราทุกคนเคยทำงาน ได้รับรายได้ และได้จับจ่ายเพื่อกันและกัน หากเราเริ่มอยากทำงานน้อยลง จับจ่ายน้อยลง คงอย่าลืมว่า หากทุกคนจับจ่ายลดลงครึ่งหนึ่งพร้อมกัน แปลว่าเพื่อนร่วมชาติน่าจะได้รายได้ลดลงครึ่งหนึ่งทั่วกันด้วย และกลายเป็นว่า ทุกคนก็อาจมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายอยู่ดี เพราะเราจะต้องมีรายได้น้อยลง เราจึงยังควรมีความหวัง กำลังใจ จับจ่ายคล้ายๆเดิม แต่ย้อนไปดูข้อ 1 คือ ต้องไม่จ่ายเกินตัว หรือ กู้เงินเกินตัว ซึ่งผมสังเกตว่า หลังวิกฤตมา ผู้กู้ก็รอบคอบขึ้น ผู้ปล่อยกู้ก็รอบคอบขึ้น ไม่ค่อยเห็นเกินตัวอยู่แล้ว หากเรายังจับจ่าย และจับจ่ายอย่างรอบคอบ ไม่เกินตัว เราก็ได้ทำหน้าที่เพื่อกันและกันอย่างครบถ้วน และเจริญต่อไปได้

คนมาเลเซียมีรายได้ 2 เท่าของเรา คนไต้หวัน และเกาหลี มีรายได้ ประมาณ 6 เท่าของเรา คนสิงคโปร์และฮ่องกง มีรายได้ประมาณ 10 เท่าของเรา คนญี่ปุ่นและคนอเมริกันมีรายได้ประมาณ 15-17 เท่าของเรา ไม่ใช่เพราะเขาเอาแต่เก็บ เขาทำ เขาหา เขาใช้จ่าย จึงเป็นรายได้แก่กันและกัน เขาเก็บบ้างเพื่อให้มีใช้จ่ายยามแก่เฒ่าหรือลำบาก แต่ถ้าเขามัวแต่เก็บ ไม่ใช้จ่าย จะเหมือนร่างกายไม่ได้พึ่งพากันและกัน และทำงานเพื่อกันและกัน จะไม่เติบโตขนาดนี้

3. ***ภูมิใจในศักดิ์ศรีมนุษย์ ที่ถูกสร้างมาให้มีคุณค่าในสังคม*** คนที่ประสบความสำเร็จทุกคน รู้และภูมิใจในคุณค่าชีวิตของตนที่มีต่อโลกนี้ อย่าคิดว่าการทำงานนั้นเป็นความทุกข์ การได้เงินจึงเป็นความสุข หน้าที่การงานเป็นดังพรที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า อวัยวะที่ได้รับเลือดเลี้ยงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ทำสิ่งใดให้อวัยวะอื่น เราเรียกว่า "มะเร็ง" คนเราไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อใช้พื้นที่ในโลก โดยไม่ได้สร้างอะไรเพื่อกันและกัน หากเรามองชีวิตอย่างเป็นสุข สนุกกับการทำงานการสร้างคุณค่าให้กันและกัน จะเป็นผู้บริหาร จะขายสินค้า จะส่งสินค้า จะให้บริการกันและกัน ก็มีคุณค่าทั้งสิ้น (หากไม่ใช่ทางบาป หรือทุจริต)

ดังในปฐมกาล พระเจ้าทรงให้มนุษย์นั้นอยู่ในสวนเอเดน ให้ครอบครองสรรพสิ่งบนแผ่นดิน ทรงให้ทำและรักษาสวน ไม่ใช่ให้ครอบครองเปล่าๆ และการได้ทำและรักษาสวน อย่าถือว่าเป็นภาระหรือเป็นทุกข์เลย น่าจะถือว่าน่าภูมิใจเพราะเป็นศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ได้ทำประโยชน์ตามอาชีพอันสุจริตเพื่อกันและกัน และคิดตามหลักธรรมว่า "เพื่อเหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงตรากตรำทำงานด้วยความอุตสาหะ เข้มแข็งด้วยพลังที่พระองค์ทรงดลใจข้าพเจ้าอยู่"

หากเราทุกคนใช้ชีวิตที่รอบคอบ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว สร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยง ดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าต่อกันและกัน ไม่ทำงานน้อยลง ไม่จับจ่ายน้อยลง (แต่ถ้าใครจับจ่ายเกินตัว หรือกู้เงินเกินตัวอยู่ก็ควรดูข้อแรก และรอบคอบขึ้น) เก็บออมตามสมควร บ้านเมืองก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงครับ

มนตรี ศรไพศาล

(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น