บอร์ด ITV ต่อรองขอยื้อเวลาอีกครึ่งปี หลังเส้นตายถอดหุ้นจาก ตลท.ในวันนี้ พร้อมโยนบาป สปน.ไม่ตั้งอนุญาโตฯ ร่วมแก้ไขปัญหา ทำให้ทางออกคลุมเครือ
วันนี้ (9 เม.ย.) นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ กรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ITV ขอขยายระยะเวลาการชี้แจงแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอนออกไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลานับจากวันประกาศว่าหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เข้าข่ายถูกเพิกถอน (9 เม.ย.50)
ทั้งนี้ บริษัทยืนยันว่ามีเจตนาที่แน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงความพยายามในการที่จะปกป้องผู้ถือหุ้นรายย่อยมิให้เกิดความเสียหายจากการที่ ITV จะต้องถูกเพิกถอนจาก ตลท. แต่ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนที่ทำให้ ITV ยังไม่สามารถกำหนดแนวทางในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ในขณะนี้ เนื่องจากการหาแนวทางต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการพอสมควร
เนื่องจากการจ่ายดอกเบี้ยในค่าสัมปทานส่วนต่าง และค่าปรับในการปรับผังรายการให้กับสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) รวมเป็นเงินประมาณ 100,000 ล้านบาทนั้น ITV ได้โต้แย้งและต่อมาเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการซึ่งสถาบันอนุญาโตตุลาการได้รับคำเสนอข้อพิพาทของบริษัทฯ ไว้แล้ว ปัจจุบันข้อพิพาทดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ
เหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ ITV ไม่สามารถทราบหรือกำหนดจำนวนหนี้ที่แน่นอน ตลอดจนยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า บริษัทฯ จะต้องชำระดอกเบี้ยและค่าปรับให้กับ สปน.หรือไม่เพียงใด ITV จึงจำต้องขอเวลาเพื่อรอผลการพิจารณาชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในส่วนของภาระหนี้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดแนวทางการดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เหตุเพิกถอนหมดไปได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ
แม้ว่า สปน.จะบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯเมื่อ 7 มี.ค.50 ทั้งๆ ที่ขณะนั้นข้อพิพาทในเรื่องค่าปรับและดอกเบี้ยจากค่าตอบแทนส่วนต่างดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ITV ได้มีหนังสือโต้แย้งไปที่ สปน.ระบุว่า การบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยข้อสัญญาของสัญญาเข้าร่วมงาน
ปัจจุบัน ITV อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องให้ สปน.และหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ และการดำเนินการต่างๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อสัญญาดังกล่าว
โดยเบื้องต้น ITV คาดว่าจะสามารถสรุปความเสียหายและดำเนินการทางกฎหมายในการดำเนินคดีต่อศาลและหรือการเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวได้ภายในสิ้นเดือน เม.ย.50 นี้
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ ITV จะต้องขอขยายระยะเวลาในการจัดทำแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอนออกไป เพื่อรอผลการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯคาดว่าผลจากการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็นมากขึ้น
**เล็งทำ CONTENT เป็นธุรกิจใหม่
สำหรับการดำเนินการหาแนวทางในการประกอบธุรกิจใหม่และการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น ITV ก็มิได้นิ่งนอนใจ โดยได้พยายามพิจารณาหาแนวทางการประกอบธุรกิจใหม่ในกรณีที่ ITV จะไม่สามารถดำเนินการธุรกิจสถานีวิทยุและโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟต่อไปได้อีก
ITV ได้มีการพิจารณาฐานของธุรกิจในบริษัทย่อยทั้งสองบริษัทฯ คือ บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อ/ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และจัดกิจกรรมการตลาดอื่นๆ และบริษัท มีเดีย คอนเน็คซ์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจ ให้บริการสื่อโฆษณาและผลิตเนื้อหา (content) ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยปัจจุบันเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการหารือของฝ่ายบริหารซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารของ ITV ยังได้พิจารณาหาแนวทางในการฟื้นฟูกิจการของ ITV ซึ่งรวมทั้งการวางแผนธุรกิจ และหรือการระดมทุนจากผู้ร่วมทุนภายในและภายนอกประเทศ ซึ่ง ITV จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อพิจารณาผลดีและผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้การฟื้นฟูสถานะและกิจการของ ITV เป็นประโยชน์ให้แก่ ITV และผู้ถือหุ้นรายย่อยมากที่สุดเท่าที่จะทำให้ได้
รายย่อยฟ้องเอาผิด 9 ผู้บริหาร เรียกค่าเสียหาย 5 หมื่นล.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสุพงษ์ ลิ้มธนากุล ผู้ถือหุ้นรายย่อยของบมจ.ไอทีวี จำนวน 1 แสนหุ้น ได้มอบหมายทนายความยื่นฟ้องคดีแพ่งผู้บริหารไอทีวี จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย นายบุญคลี ปลั่งศิริ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายทรงศักดิ์ เปรมสุข นายอนันต์ ลี้ตระกูล นายวีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ นางสริตา บุนนาค นายสมประสงค์ บุญยะชัย นายดำรง เกษมเศรษฐ์ และนางศิริเพ็ญ สีตะสุวรรณ เป็นจำเลยที่ 1-9 ในข้อหาบริหารงานผิดพลาด จนทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบ โดยเรียกค่าเสียหาย 50,112,029,663 บาท (ห้าหมื่นหนึ่งร้อยสิบสองล้าน สองหมื่นเก้าพันหกร้อยหกสิบสามบาท)
นายสุพงษ์ ระบุว่า การฟ้องร้องดังกล่าว เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของคณะผู้บริหารชุดดังกล่าว ใช้ช่องทางหลีกเลี่ยงการจ่ายสัมปทานให้กับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) โดยมีวงเงินสะสมมานานหลายปี จนกระทั่งมีวงเงินสะสมสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ส่งผลทำให้บริษัท ไอทีวี ถูกยึดทรัพย์ และเพิกถอนการเป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์
เรื่องที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป โดยราคาหุ้น ITV ในกระดานซื้อขาย ตกต่ำลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ซึ่งตอนนั้นมีราคาสูงกว่า 30 บาท ล่าสุด 23 ก.พ.2550 ก่อนที่ ตลท.จะขึ้นเครื่องหมาย SP แบบไม่มีกำหนด ราคาหุ้น ITV ปิดตลาดที่ 0.93 บาท