xs
xsm
sm
md
lg

หลักธรรมสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย (3) : รักชาติ บทเรียนจาก “ทักษิโณมิกส์” นำไปสู่ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งไม่ใช่ “เศรษฐกิจพอแล้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงเทศกาลแห่งความรักในเดือนนี้ บ้านเราก็มีบรรยากาศหนาวเย็นนิดๆ จนพวกเราได้สวมใส่เสื้อกันหนาวซึ่งไม่ได้ใช้กันมาหลายปี ทำให้เป็นเทศกาลแห่งความรักที่น่าเป็นสุขใจจริงๆ

ในยุคที่ประเทศชาติกำลังต้องการหลักธรรมอย่างมาก ด้วยหลักการ “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” คือ แผ่นดินไหนที่เป็นธรรม แผ่นดินนั้นก็จะเป็นทอง ทำให้ผมนึกถึงหลักธรรมที่สำคัญยิ่งคือ “ความรักชาติ”

ผมดีใจที่เราเพิ่งแข่งกีฬาระหว่างไทยกับสิงคโปร์ไปและจบลงอย่างสงบและสันติ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ มีเค้าลางแห่งความโกรธและความไม่พอใจการตัดสินการแข่งขันที่สิงคโปร์

ผมถือว่า นี่แหละ คือความรักชาติที่แท้จริง ทำให้ทุกคนประจักษ์ว่า ชาวไทยมีน้ำใจนักกีฬา มีคุณธรรม พร้อมจะมองผู้อื่นในแง่ดี พร้อมจะให้อภัยได้แม้มีเรื่องน่าเข้าใจผิด

ดังสุภาษิตที่ว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” แต่จริงๆ ก็น่าจะไปถึงขั้น “แพ้เป็นพระ ชนะก็เป็นพระ” คือ ขณะที่เรามีน้ำใจนักกีฬาที่ดีกรณีที่เราต้องแพ้ เราก็ไม่ต้องไปคิดว่าเขาไม่ดี ผมดีใจที่เห็นการถ่ายทดคำสัมภาษณ์กองเชียร์คนไทย ที่บอกว่า “แพ้ก็ไม่เป็นไร เห็นแข่งอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ขอเป็นกำลังใจให้นักกีฬาไทยด้วยครับ” ผมขอร่วมเป็นกำลังใจด้วยครับ

ในความเย็น มีวาระร้อนอยู่บ้างที่ได้มีการเปรียบเทียบ “ทักษิโณมิกส์” กับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ผมไม่อยากจะพูดมากเรื่อง “ทักษิณโนมิคส์” อีก เพราะเรื่องนี้ หากจะหาความเป็น “เอกลักษณ์” ที่โดดเด่น แตกต่างจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั่วไป ก็คงมีหลายประเด็น ดังที่ผมได้เคยนำเสนอไปแล้ว หลายครั้ง จากอยากชวนให้ท่านผู้อ่าน คลิกกับไปอ่านเพิ่มเติมในเว็บไซด์ของผู้จัดการ www.manager.co.th ดูที่คอลัมน์ซ้าย คลิกบรรทัด “หุ้น” แล้ว คลิกอีกครั้งที่ “รอบรู้เรื่องตลาดทุน” ซึ่งมีย้อนหลังตลอดช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา หลักการ “ทักษิโณมิคส์” ที่สร้างปัญหาจนต้องเน้นหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่

1.การใช้เงินเกินตัว สะสมหนี้หรือ ภาระให้คนรุ่นหลัง เช่น ตั๋วเงินคลัง กองทุนวายุภักษ์ กองทุนศูนย์ราชการ กองทุนน้ำมัน เป็นเงินกว่า 4 แสนล้าน เป็นการใช้เงินมากเกินตัวในยุคนี้ และทิ้งภาระให้คนรุ่นหลัง ในบทความ “การเมืองไทย..ใกล้ความฝัน (17) : เมื่อนักการเมืองใช้เงิน “ของประชาชน” อย่างรับผิดชอบ” ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 และ บทความ เศรษฐกิจพอเพียง (1) : เพื่อความก้าวหน้าที่ยั่งยืน ในวันที่ 9 ตุลาคม 2549

2.ดูจะเป็น “ทุนผูกขาดนิยม” มากกว่า “ทุนนิยม” ครอบอำนาจรัฐเพื่อธุรกิจส่วนตัว ดังผลงานการตีแผ่เรื่อง “ทศหมึก” ของว่าที่ สว. ขวัญสรวง อดิโพธิ์ ที่ประชาชนเข้าใจจึงเทคะแนนให้ ตามที่ได้นำเสนอในเรื่อง “การเมืองไทย..ใกล้ความฝัน (12) :สัญญาณจากดารา ส.ว.ดวงใหม่” ในวันที่ 9 ตุลาคม 2549

3.มีการนำเอาธุรกิจหลักของชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคง ไปขายให้ต่างชาติ ดังผลงานการตีแผ่เทียบเคียงเรื่อง อาเจนตินา ของว่าที่ สว. ร.ต.อ. นิติภูมิ นวรัตน์ ซึ่งได้อ้างถึงในบทความเดียวกัน

4.แม้จะมีความพยายาม สร้างภาพว่าเป็นผู้นำที่เข้มแข็งคล้ายสิงคโปร์ ซึ่งจะนำประเทศไทยให้เข้มแข็งคล้านกัน แต่ขณะที่ผู้นำสิงคโปร์เจรจาธุรกิจ เพื่อเทมาเส็ก แต่เทมาเส็กคือกองทุนของประเทศ ในขณะที่สิ่งที่ครอบครัวของอดีตผู้นำเราเจรจา (หรืออาจเป็นลูกๆเป็นผู้เจรจาดังที่อ้าง ?!?!) กลับเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัว เราจึงยังจ่ายภาษีขั้นสูงถึง 37% ขณะที่ชาวสิงคโปร์จ่ายเพียง 22% ก็เพราะเขามีกองทุนของรัฐสร้างรายได้ แต่ของเรากลับหาช่องทางผ่องประโยชน์ส่วนรวมเข้าเป็นของส่วนตัว !!

5.การซุกซ่อนทรัพย์สิน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งกรณี แอมเพิลริช หรือ วินมาร์ค ดังบทความในเรื่อง “เรื่องจริงหรือจัดฉาก... ในวงการหุ้น” ในวันที่ 28 สิงหาคม 2549

นั่นคือสาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยกระตุ้นจิตสำนึกในระบบเศรษฐกิจพอเพียง คือ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่สร้างหนี้ เกินตัว ไม่ซ่อนภาระทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง มีความพอเพียงถ้วนหน้าโดยไม่ต้องใช้อำนาจรัฐเอาเปรียบกัน และไม่ต้องเอาสมบัติของชาติไปเป็นของตัว และนำไปขายต่างชาติ

และเศรษฐกิจพอเพียงนั้น โตได้ แต่ต้องรอบคอบ สร้างคนให้เป็นคนเก่งและคนดี กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมั่นคง ธ. ไทยพาณิชย์ก็เช่นกัน (ยิ่งดูโฆษณาชุด “ค่าของคน อยู่ที่ความงดงามของจิตใจ” ก็ยิ่งประทับใจ)

และด้วยความที่ติดตาม “เศรษฐกิจพอเพียง” มาตลอดที่ต้องมีทั้ง ความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล และภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ผมก็ยืนยันว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ยังโตได้ ไม่ใช่ “เศรษฐกิจพอแล้ว”

แม้มาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป อาจกระทบตลาดทุนอยู่บ้าง ทุกฝ่ายก็พอเข้าใจได้ และเมื่อ ธปท. ได้แสดงจุดยืนว่า (1) ยึดเป้าหมายนโยบายด้านอัตราเงินเฟ้อ ไม่ให้สูงเกินไป (2) ดูแลไม่ให้การเติบโตแรงจนเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะนี้ประมาณว่าน่าจะโต 4-5% (3) รักษาสมดุลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งจนเป็นปัญหาต่อภาคการส่งออก

โดยเมื่อพิจารณานโยบายดอกเบี้ยว่า การลดดอกเบี้ย จะช่วยลดอุปสงค์เงินบาท ทำให้อ่อนลงได้ แต่อาจทำให้โตเกินและมีปัญหาต่อเรื่องเสถียรภาพและอัตราเงินเฟ้อนั้น ผมว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป การบริโภคมีสัญญาณชะลอตัวลงบ้าง ก็น่าจะทำให้ ธปท. มีโอกาสทบทวนนโยบาย ใช้ดอกเบี้ยต่ำได้ เพื่อกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจที่ดูซบเซาไป ให้กลับขึ้นมาคึกคักขึ้นได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้เสียเสถียรภาพอีกต่อไป

เงินเฟ้อก็ต่ำอยู่แล้ว เพราะระดับราคาน้ำมันปีนี้ต่ำ “เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว” เพราะเงินเฟ้อวัดแบบ Year-on-Year หรือ ปีต่อปี ค่าเงินแข็ง ราคาโภคภัณฑ์ และสินค้าเกษตรจึงไม่สูงเช่นกัน จึงน่าจะช่วยลดความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อได้ดี

และยังมีสัญญาณที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นบ้าง ก็น่าจะช่วยให้ไทยส่งออกได้แม้เงินจะแข็งขึ้นบ้าง เพราะไม่แข็งกว่าจีนมากเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจเป็นข่าวดีได้หากมีการผ่านคลายมาตรการลงไป

เมื่อวันเสาร์ ผมเห็นคำถามว่า “มีข่าวว่า ธปท.” สร้างความเสียหายเรื่องเงินทุนสำรองไป 3 แสนล้านบาท” ผมว่าเป็นข่าวเท็จของผู้ไม่รักชาติ หากคำนวณจาก ทุนสำรองที่เรามี 6 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. ค่าเงินแข็งจากระดับ 40 บาท เป็น 35 บาท คือบาทแข็งขึ้นเหรียญละ 5 บาท ก็คำนวณเป็นขาดทุน 3แสนล้านบาทหรือ ? หากเป็นเช่นนั้น ตอนวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วค่าเงินบาทอ่อนจาก 26 บาทเป็นกว่า 50 บาท แปลว่าเรากำไรมหาศาลหรือ ? อาเจนตินา ที่ค่าเงินอ่อนเป็น 10 เท่าแปลว่ากำไรเป็น 10 เท่าหรือ ? ถือเป็นการคิดตลกในเทศกาลแห่งความรักก็แล้วกัน

และหลักธรรมเรื่องความรักหลักแรกของเทศกาลแห่งความรักในปีนี้ จึงคือ “รักชาติ” ร่วมกันทุกคนครับ


มนตรี ศรไพศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น