xs
xsm
sm
md
lg

หลักธรรมสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย (1) : ผู้เป็นสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนตรี ศรไพศาล
มีข้อถกเถียงทางเศรษฐศาสตร์อยู่ข้อหนึ่ง บางคนบอกว่า “ยามใดที่ประชาชนเป็นสุข ยามนั้นเศรษฐกิจจะดี” โดยอธิบายว่า เมื่อประชาชนมีความสุข สบายใจ ก็ยินดีจับจ่าย ยินดีลงทุน เมื่อคนยินดีจับจ่ายและลงทุน คนขายของก็ขายดี คนให้บริการก็มีผู้ใช้บริการดี กล่าวคือประชาชนมีรายได้ดี เศรษฐกิจก็จะดี

แต่บางคนก็บอกว่า กลับกัน “ยามใดที่เศรษฐกิจดี ประชาชนชนก็เป็นสุข” นั่นคือ เมื่อเศรษฐกิจดี หมายถึงคนค้าขายได้ดี ผลิตสินค้าขายได้ดี บริการได้มาก ก็มีรายได้มาก คนก็พร้อมและมีกำลังจับจ่ายในสิ่งที่จำเป็นและสิ่งที่ต้องการ ประชาชนก็มีความสุข

ผมคิดว่า ถูกทั้งคู่ครับ “ยามใดที่ประชาชนเป็นสุข ยามนั้นเศรษฐกิจจะดี” และ “ยามใดที่เศรษฐกิจดี ประชาชนชนก็เป็นสุข” หลักการนี้สม “เหตุผล” สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง (ที่จะต้องมีความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา)

การทำร้ายประเทศจึงทำได้มาก หากเริ่มที่การทำลายความสุขของคนในชาติ การวางระเบิดในวันฉลองปีใหม่จึงถือเป็นการโจมตีความสุขของคนไทยที่ทำให้หายไป ทำให้เครียด และเริ่มรู้สึกไม่พอใจกับสภาพแวดล้อม จนรวมถึงรัฐบาลด้วย

ผมเชื่อว่า หน้าที่หนึ่งของคนไทยตามพรที่เราได้รับพระราชทานมา คือ “ให้กำลังใจแก่กันและกัน” ผมหวังว่าเราควรจะมีเวลาสร้างความสุขให้แก่กันและกัน และแก่ประเทศชาติ เพื่อช่วยกันทำให้เศรษฐกิจดีด้วยกำลังของพวกเราทุกคน

หลักธรรมชุดแรกที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้คือ “ผู้เป็นสุข” ผมว่าดีมากเลยครับ สำหรับโลกของเรา มองว่าสุขก็เป็นสุข มองว่าทุกข์ก็เป็นทุกข์ เมื่อเห็นน้ำครึ่งแก้ว คนที่คิดอย่างไม่พอว่า “หมดไปแล้วตั้งครึ่ง” หรือ “มีแค่ครึ่ง” ก็เป็นทุกข์ แต่คนที่คิดอย่างพอเพียงว่า “เหลือน้ำอีกตั้งครึ่ง” ก็เป็นสุข

ไม่ว่ามีใครพยายามพิสูจน์ให้เราเห็นว่าโลกเป็นทุกข์ ขอเพียงเราเรียนรู้ที่จะทำให้ใจของเราเป็นอิสระจากความคิดแง่ลบเช่นนั้น และมองโลกในแง่บวก ชีวิตเราก็จะเป็นสุข พ้นจากความสับสนชีวิตใดๆ มีคำสอนรายละเอียดดังนี้

1.“บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” และ “บุคคลผู้ใดหิวกระหาย ความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข”

หากคนเรียนรู้ว่า ตัวเราเองอาจมีความบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ไม่โทษว่าโลกนี้เป็นโลกแห่งความทุกข์ ชีวิตเราย่อมเป็นทุกข์ ไม่โทษคนอื่น ไม่ทะนงตนเองว่า “ฉันถูกเสมอ” จริงๆแล้ว คนที่จะทำบาปได้มากที่สุด มักเป็นคนที่คิดว่า ตนคือเทพเจ้า คิดจะทำอะไรก็ได้ ก็ไม่มีความผิด

แม้อย่างในภาพยนตร์เรื่อง “Star Wars” อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ ก็เป็นเด็กอัจฉริยะ ที่ฝึกเป็นเจได เป็นพระเอกในภาค 1-2 แล้วเมื่อมีความสำเร็จมากขึ้น เรียนรู้การใช้อำนาจด้านมืด ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็น ดาร์ก เวเดอร์ มารร้ายที่น่าเกลียดน่ากลัวที่สุดในภาค 3 และกลายเป็นศัตรูของฝ่ายธรรมะในภาค 4-5 จนภาค 6 จึงบรรลุว่า การจมอยู่กับความบาป แม้จะทำให้ได้อำนาจไม่สิ้นสุด ครอบครองทุกสิ่งทุกอย่าง ใครตามอำนาจก็อยู่รอด ใครขวางอำนาจต้องตาย

ในท้ายที่สุดก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ในสภาพเช่นนั้นทำไม ไร้ความรักแท้ มีแต่ความกลัวจากทุกคนรอบข้าง ขาดสันติสุขแท้ เพราะต้องคอยระวังรักษาอำนาจ และทำลายเหล่าชาวธรรมะที่ต่อต้านตน

จนถึงเวลาที่กระหายความชอบธรรม เข้าใจว่าทุกคนควรดำรงชีวิตเพื่อกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม ร่วมกันปกป้องความชอบธรรม จึงได้ทำลายมารร้ายที่ครอบงำจิตใจ และกลับใจมาสู่ความชอบธรรมในที่สุด

เราก็คงภาวนาให้เกิดความกระหายความชอบธรรมเช่นนั้น เพื่อสันติสุขของชาวไทยต่อไป

2.“บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข”

เราทุกคน ไม่ว่าคนชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม ต่างก็ “รักสันติ” อยากให้ตัวเองอยู่ในสันติ แต่คำอวยพรนั้น สำหรับ ผู้ “สร้างสันติ” และในทางกลับกัน คนที่พยายามไม่ให้เกิดสันติ ก็คงไม่มีใจเป็นทุกข์ และถือว่าน่ารังเกียจ

เมื่อถึงจุดนี้ หลายคนอาจสับสนว่า แต่ละช่วงเวลา ท่าทีของแต่ละฝ่ายนั้น ฝ่ายไหนกันแน่ที่สร้างสันติ ผมอยากตั้งข้อสังเกตุว่า ในสังคมของคนหมู่มาก ในการปกครองประเทศซึ่งเป็นประโยชน์ของคนหมู่มากนั้น อาจมีเหตุเรื่องการทุจริต เอาเปรียบประชาชน เอาผลประโยชน์ของส่วนรวมไปให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นการเบียดเบียนกัน

การนำไปสู่สันติภาพ น่าจะหมายถึงการพิสูจน์ความถูกผิด อย่างชอบธรรม ไม่ใช่ละเลยการตอบคำถามให้เห็นความชอบธรรม แต่กลับกล่าวหาเพียงว่า “มีการเรียกร้อง ของอำนาจอีกฝ่าย” ซึ่งมีความพยายามที่จะบอกว่า ประเทศถูกแบ่งเป็น “พวกฉัน” กับ “พวกตรงข้าม” ซึ่งหากอยู่ในเงื่อนไขนั้น ก็เท่ากับสร้างความแตกแยก

ผมว่าคนไทยพึงรักสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียว การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการตรวจสอบ หากยังไม่ชัด ก็ทำให้ชัด และเปิดใจศึกษาให้ละเอียด นั่นจะทำให้สังคมไทยมีการยกระดับความชอบธรรมให้สูงขึ้น

ผมไม่อยากให้เราหลงเชื่อว่า “ใครมีโอกาสก็ทำทั้งนั้น” ปุถุชนย่อมแสวงหาประโยชน์ สมบัติ เงินทอง และอำนาจ แต่ละคนอาจมีโอกาสต่างกัน ซึ่งอาจต่างกันตามอดีตของตัว ใครมีโกงได้ก็โกงทั้งนั้น และความเชื่อเช่นนั้น ย่อมนำไปสู่ความทุกข์ เพราะหากเรื่อง ประโยชน์ สมบัติ เงินทอง และอำนาจ นำหน้าชีวิตนั้น มนุษย์มักจะไม่เคยพอ และมักจะคิดเปรียบเทียบและอิจฉากันได้ ใครมีโอกาสอำนาจก็โกงกัน หรือเอาเปรียบกันเหมือนกันหมด

ผมเชื่อว่า คนในทางโลก ก็อยู่ในความชอบธรรมได้ เพียงแต่มีหลักว่า “รักส่วนรวม และรักกันและกัน” ซึ่งย่อมจะทำให้ไม่เอาเปรียบกัน ไม่ใช้อำนาจเอาประโยชน์จากประชาชนเพื่อตนเองและพวกพ้อง ไม่ร่ำรวยจากอำนาจรัฐ หรือการทำธุรกิจผูกขาดที่เอาเปรียบการแข่งขัน ฯลฯ

เราก็เห็นว่า เอดิสัน สร้างหลอดไฟ บิลเกตต์ทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้ชาวโลกได้ประโยชน์มากมาย วอล์ท ดิสนีย์ สร้างภาพยนตร์มีคุณค่าต่อเด็กๆและครอบครัวมากมาย ครอบครัวเหล่านี้ก็ควรได้รับประโยชน์จาก “ประโยชน์มากกว่า” ที่เขาสร้างให้แก่ชาวโลก

ในบ้านเรา ทั้งโครงการฝนเทียม แก้มลิง การฝึกวิชาชีพปลูกพืชแทนสิ่งเสพติด ศิลปาชีพต่างๆ ภูมิปัญญาชาวบ้านในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ การท่องเที่ยวไทย ฯลฯ การเป็นการ “สร้างสรรค์” ที่น่ายกย่อง และน่าภาคภูมิใจ

ผมเชื่อว่า หากเราอยู่ในทางชอบธรรม เรียนรู้ที่จะมองโลกอย่างมีความสุข เศรษฐกิจไทยจะดียั่งยืนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น