xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ปรับเกณฑ์จัดดุลชำระเงิน ห่วงยอดเงินออม-ลงทุนไม่สมดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติห่วงช่องว่างระหว่างเงินออมและเงินลงทุนกว้างมาก หลังมีการปรับปรุงการจัดทำดุลการชำระเงินให้เข้ามาตรฐานไอเอ็มเอฟ โดยเฉพาะในส่วนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากบริษัทลงทุนข้ามชาติ ระบุทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 48 ขาดดุลเพิ่มขึ้นกว่า 4,000 ล้านเหรีญสหรัฐ

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน กล่าวว่า ธปท.ได้มีการปรับปรุงการจัดทำดุลการชำระเงินของประเทศให้สมบูรณ์มากขึ้น และเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยเพิ่มตัวเลขกำไรที่กลับมาลงทุน (Reinvested Earnings)ของบริษัทลงทุนข้ามชาติลงไปในการทำดุลการชำระเงิน ทั้งในส่วนกำไรของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และบริษัทไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ในส่วนของกำไรที่ไม่ได้นำกลับไปประเทศของบริษัท แต่ยังลงทุนต่อในประเทศเดิมที่ลงทุนไว้ต่อเนื่อง ซึ่งในการลงบัญชีเงินส่วนนี้นั้น ธปท.กำหนดให้มีการลงบัญชีในลักษณะเสมือนว่า บริษัทดังกล่าวได้นำกำไรส่วนนี้ออกจากประเทศก่อน แล้วจึงนำเข้ามาลงทุนใหม่ในลักษณะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ การปรับปรุงการจัดทำระบบการชำระเงินดังกล่าว ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในช่วงที่ผ่านมา มีสถานะเลวลง เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศในระดับที่สูงกว่าการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศมาก ทำให้กำไรที่ส่งออกไปจากบริษัทต่างประเทศที่ลงทุนในไทยสูงกว่าเงินที่ได้รับเข้าจากกำไรของนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ผลดังกล่าวทำให้ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยมีสถานะดีขึ้น เพราะจะมีการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในช่วงที่ผ่านเพิ่มขึ้น จากกำไรที่นำกลับมาลงทุนต่อในประเทศ

นางสุชาดา กล่าวต่อว่า จากการปรับปรุงการจัดทำดุลการชำระเงินของธปท.ด้วยการคิดรวมตัวลงกำไรจากการลงทุนดังกล่าว ส่งผลให้ในปี 2548 ที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 7,852 ล้านเหรียญสหรัฐ จากยอดเดิมที่ขาดดุลเพียง 3,666 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขาดดุลเพิ่มขึ้น 4,187 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้เงินทุนไหลเข้าเพื่อมาลงทุนโดยตรงในประเทศสุทธิ เพิ่มขึ้นจากที่เคยเกินดุล 4,219 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการเกินดุลสูงถึง 8,405 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินดุลเพิ่มขึ้น 4,187 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตัวเลขนี้ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยใช้ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดีกว่าความเป็นจริงมาตลอด

นอกจากนั้น จากตัวเลขดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุนของไทยในช่วงที่ผ่านมาที่ใช้ในปัจจุบัน ต่ำกว่าความเป็นจริงอีกด้วย ซึ่งชี้ว่าการออมของประเทศไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น เพื่อสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต จำเป็นต้องเร่งเพิ่มการออมในประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ธปท.คาดว่า ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงที่ผ่านมา และในระยะต่อไปของประเทสไทยที่จะลดต่ำลงจากตัวเลขกำไรที่กลับมาลงทุน จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของประเทศ หรือ การของกู้เงินจากต่างประเทศในโครงการต่างๆ เช่น โครงการเมกกะโปรเจ็กต์ เพราะเป็นตัวเลขที่อธิบายได้ และในความเป็นจริง แม้ว่า ตัวเลขดุลบัญเดินสะพัดเลวลง แต่เงินทุนนำเข้าก็เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ดุลชำระเงิน ซึ่งแสดงผลลัพธ์ของเงินเข้าออกของไทยยังเป็นตัวเลขเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น