xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจพอเพียง 1 : ควรหรือไม่ที่จะย้อนศร อ.ส.ม.ท. ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากนิยาม “เศรษฐกิจพอเพียง” คืออะไร ? ซึ่งสามารถเข้าดูได้จาก http://www.sufficiencyeconomy.org/detail.swf นั้น ได้พูดถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และอีกส่วนที่สำคัญคือ ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ซึ่งผมคิดว่า ส่วนเรื่องภูมิคุ้มกันนั้น เป็นส่วนที่สำคัญมาก และช่วยขยายความคิดได้มากมาย

ภูมิคุ้มกันเรื่องแรกที่ผมอยากกล่าวถึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่มีการพูดคุยกันอยู่มากในช่วงนี้ คือ แนวความคิดย้อนศรการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของ อ.ส.ม.ท. เรื่องอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆเพียงแค่ว่า “แปรรูปฯ ดี” หรือ “เอากลับมาเป็นของรัฐ 100% อีกครั้งดี” ผมเชื่อว่า หากคิดกันด้วยเหตุด้วยผล เราจะเลือกหนทางที่แก้ไข “ส่วนไม่ดี” รักษา “ส่วนดี” โดยการแก้ไข ก็ควรต้องคำนึงให้ “ผลสืบเนื่อง (Consequence)” ไม่สร้างปัญหาใหม่ที่อาจเกิดผลเสียที่ไม่จำเป็น

1.แก้ไข “ส่วนไม่ดี” เช่น

ก) มีการรวบรวมคลื่นความถี่ และเร่งเสนอขายหุ้นก่อนการตั้ง กสช. ผมคิดว่า เป็นข้อมูลที่นักลงทุนก็ได้รับทราบอยู่แล้วว่า ตามรัฐธรรมนูญนั้น จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสมบัติของชาติให้กับผู้ประกอบการต่างๆ ผมเชื่อว่า โครงสร้างในอนาคตยังสามารถที่จะจัดการได้ตามความเหมาะสมตามกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อยู่ดี โดยนักลงทุนน่าจะก็ยอมรับ เพราะทราบสาระตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ข) การมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่ หรือผังรายการให้แก่พวกพ้อง การมีนโยบายใช้งบประมาณของรัฐ เพื่อจ่ายค่าโฆษณาเป็นรายได้ให้แก่พวกพ้อง เป็นต้น ก็ตรวจสอบกันไป

ค) การสื่อสารแก่สาธารณะโดยไม่เป็นกลาง ทั้งก่อนและหลังการปฏิรูป โดยอาจมีการปกปิดความผิด เสนอข้อมูลด้านเดียวในอดีต ก็สามารถจัดการโดยคืนรายการที่เคยถูกคุกคามอย่างไม่เป็นธรรมในอดีต เพื่อความเป็นกลางมากขึ้นก็ได้

ง) การจัดสรรหุ้นให้แก่พวกพ้อง โดยเฉพาะในส่วนต่างประเทศ ก็ลองติดตามตรวจสอบก็ได้ โดยเฉพาะกองทุนประเภทที่มาจากเกาะฟอกเงิน คล้ายๆ แอมเพิลริช หรือวินมาร์ค หรือหากหาได้ว่า กองทุนเหล่านั้นมีที่มาที่ไปของเงินอย่างไร เป็นใครกันแน่ ทำไมมีพฤติกรรมเหมือนกลุ่มเดียวกัน การดูที่มาที่ไป ก็อาจทำให้พบได้ว่ามีแหล่งเงินสกปรกของนักการเมืองมาหาประโยชน์จากการจองหุ้นรัฐวิสาหกิจเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีก็ทวงคืนและดำเนินการตามกฎหมายไป

2.รักษา “ส่วนดี” การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็มีส่วนดีหลายๆเรื่อง เช่น

ก) การขยายตลาดทุน : ช่วยดึงดูดทรัพยากรเข้ามาในประเทศ ประเทศจีนเปิดประตูรับทุนต่างประเทศหลังเราหลายปี แต่ขณะนี้สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศได้มหาศาล ประเทศเจริญก้าวหน้าในอัตราสูงมานับสิบปี การมีหุ้นช่วยระดมทุนเข้าประเทศก็เป็นผลดีต่อตลาดทุน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าดีต่อคนไทยในวงการหลักทรัพย์ หรือนักลงทุนไม่กี่แสนคนเท่านั้น แต่เม็ดเงินที่เข้ามาลงทุน โดยทั่วไปมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้น เพิ่มความมั่งคั่งผู้ลงทุนและสถาบันหรือกองทุนต่างๆที่ลงทุน เพิ่มการจ้างงาน และ เพิ่มการจับจ่ายตามตัวคูณในระบบเศรษฐกิจ ฯลฯ การแปรรูปฯ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนจึงมีส่วนดีที่ไม่ควรมองข้ามด้วยเช่นกัน ขอเพียงไม่เป็นการขายสมบัติชาติ หรือกิจการผูกขาดออกไป

ข) การะดมทุนเพื่อรัฐวิสาหกิจนั้นๆหรือเพื่อภาครัฐ : เช่นเดียวกับเอกชนที่นำหุ้นเข้าตลาดฯ รัฐก็สามารถนำทุนที่เพิ่มได้ ไปขยายกิจการหรือลงทุนอย่างอื่นได้มากขึ้น เพียงขอให้ทำด้วยความโปร่งใส เพื่อประโยชน์ของชาติเหนือประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง ก็จะเป็นสิ่งที่ดี

ค) การรักษาบุคคลากร : เช่นเดียวกับกิจการเอกชน สิทธิในการซื้อหุ้นของพนักงานก็มีส่วนช่วยสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของได้เสมอ ทำให้เกิดกำลังใจในการทำงานเต็มที่แข่งขันได้กับภาคเอกชน อาจมีผู้กล่าวว่า “แปรรูปฯไปก็กลายเป็นผลประโยชน์ของพนักงานไม่กี่คน เอากลับมาเป็นของชาติดีกว่า” ก็คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะขณะนี้ แม้แปรรูปฯไปแล้ว ภาครัฐก็ยังถือหุ้นประมาณ 77% โดยกระทรวงการคลังถือ 66% และ ธ. ออมสินถือ 11%

3.จัดการ “ผลสืบเนื่อง (Consequence)” ไม่สร้างปัญหาใหม่ ซึ่งกรณีนี้ ต่างกับ กฟผ. ซึ่งได้ระงับไว้ก่อนกระจายหุ้น ทำให้ปัญหาการจัดการผลสืบเนื่องไม่เป็นเรื่องใหญ่ ในกรณีนี้ ประเด็นที่ควรใคร่ครวญให้ดี ได้แก่

ก) สัญญาณการเดินหน้าเรื่องการส่งเสริมการทำงานของภาคเอกชน : เป็นความเชื่อโดยทั่วไปว่า ประเทศจะก้าวหน้าได้ หากรัฐลดบทบาทลง ให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้น การแปรรูปฯโดยทั่วไปก็มีเป้าหมายนั้น อย่างไรก็ตาม อาจมีการทำไม่ถูกทาง โดยการแปรรูปการทำธุรกิจจากภาครัฐ ไปเป็นการผูกขาดโดยเอกชนกลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐ นั่นก็เป็นสิ่งที่ควรแก้ไขเฉพาะจุดนั้นๆ แต่หากแปรรูปฯไปแล้วจะนำกลับมานั้น จะเป็นสัญญาณที่สร้างความเข้าใจผิดได้ว่า เราไม่มีทิศทางที่ชัดเจน และอาจกลายเป็นทำให้มีการดำเนินการโดยภาครัฐมากเกินไป จนเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของประเทศโดยรวมในที่สุด

ข) ผลกระทบต่อนักลงทุนก็ควรต้องได้รับการคำนึงถึง หากการเปลี่ยนแปลงนโยบายแบบย้อนศรเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงผลสืบเนื่องต่อนักลงทุน เขาจะกลัวการลงทุน และเราจะไม่สามารถแข่งขันได้

เพื่อให้เกิดการคุ้มกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็ควรตั้งเป้าหมายให้มีการเติบโต อย่างพอประมาณ ไม่เกินตัว การลงทุนนำกิจการที่แปรรูปฯไปแล้วกลับมาเป็นของรัฐอาจเป็นการลงทุนโดยรัฐที่เกินตัว และไม่จำเป็น อาจจะขัดกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้วยครับ

มนตรี ศรไพศาล
(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น