บอร์ดที่พีไอยุคทักษิณ ยังตามจองเวรผู้ถือหุ้นเดิมไม่เลิก ล่าสุดเช้าวันนี้ ร่อนหนังสือแจ้งตลท.เพื่อถอดถอนตระกูลเลี่ยวไพรัตน์จากทีพีไอ ตั้งข้อหาขัดระเบียบก.ล.ต. นัดลงมติ 19 ม.ค.50 ขณะที่"ประชัย"ตั้งข้อสังเกตุ ถูกดีเอสไอและรัฐตำรวจของทักษิณ หาเหตุกลั่นแกล้งต่อเนื่อง เพื่อให้คนของบอร์ดชุดใหม่ เข้ามากุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้(22พ.ย.) บริษัท ทีพีไอ จำกัด(มหาชน) หรือไออาร์พีซี(IRPC) ได้ทำหนังสือแจ้งมติการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ครั้งที่ 9/2549 เมื่อวันที่ 21 พ.ย.อนุมัติแต่งตั้งนายเสงี่ยม สันทัด เป็นกรรมการตรวจสอบ แทนตำแหน่งเดิมที่ว่างลง เนื่องจากนางไพฑูรย์ พงษ์เกษรได้ลาออกจากการเป็นกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ และเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาถอดถอนนายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ นายประมวล เลี่ยวไพรัตน์ และนางสาวมาลินี เลี่ยวไพรัตน์ ออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทฯ อันเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ เอกสารที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อ้างเหตุผลว่า ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษ หรือ ดำเนินคดีอาญาโดยสำนักงานอัยการสูงสุดในข้อหาร่วมกันกระทำการ หรือ ไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเอง หรือ ผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่บริษัทฯ โดยบอร์ดชุดใหม่ มีมติให้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งต่อไป (1/2550) ในวันศุกร์ที่ 19 ม.ค.50 เวลา 10.00 นาฬิกา ที่ห้องประชุม 1 (Auditorium 1) อาคาร 10 ปี ชั้น 2 บมจ.ไออาร์พีซี จ.ระยอง โดยกำหนดวาระในการพิจารณาถอดถอนกรรมการทั้ง 3 ท่านดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการชุดใหม่ที่ประชุมกันในครั้งนี้ เป็นกลุ่มข้าราชการทหารตำรวจที่แต่งตั้งในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายพละ สุขเวช นายวีรพงษ์ รามางกูร นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายปิติ ยิ้มประเสริฐ นายวิสิฐ ตันติสุนทร นายเสงี่ยม สันทัด นางไพฑูรย์ พงษ์เกษร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส พล.อ.พรชัย กรานเลิศ นายพชร ยุติธรรมดำรง และนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา โดยมีพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎร์ เป็นประธาน
ต่อกรณีที่เกิดขึ้น นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีพีไอ เปิดเผยว่า กรณีที่ศาลอาญา รัชดาฯได้พิจารณาคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ได้ฟ้องตนและพี่น้องในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ในเรื่องการเช่าตึกทีพีไอกับบริษัท พรชัยวิสาหกิจ จำกัด โดยกล่าวหาว่า เป็นการไชฟ่อนเงินนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า เรื่องนี้เป็นการกลั่นแกล้งของตำรวจดีเอสไอ โดยมีพล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในสมัยนั้น รวมถึงพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีผู้รับมอบอำนาจจากทักษิณ ในฐานะรักษาการประธานคณะกรรมการดีเอสไอแทนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
โดยบุคคลทั้งสองได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการดีเอสไอโดยตำแหน่ง ให้มากลั่นแกล้งและหาเรื่องจนและพี่น้องตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ โดยเฉพาะให้พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎร์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฯและประธานทีพีไอคนปัจจุบัน ไปแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และให้นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการก.ล.ต.ไปดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับดีเอสไอ เพื่อที่จะได้อ้างเป็นสาเหตุให้ปลดตนออกจากการเป็นผู้บริหารของบริษัททีพีไอ
นายประชัย กล่าวต่อว่า ทั้ง ๆ ที่การเช่าตึกทีพีไอ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วถึงกว่า 10 ปี โดยที่ทีพีไอได้ทำสัญญาเช่ากับบริษัท พรชัยวิสาหกิจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทีพีไอ ในอัตราค่าเช่า 37 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาเช่าตลอดระยะเวลา 90 ปี และเป็นการชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้า ซึ่งถ้าบวกดอกเบี้ยจากค่าเช่ารวมเข้าไป จะตกตารางเมตรละ 180 บาทต่อเดือนเท่านั้น ถือว่าเป็นอัตราค่าเช่าที่ถูกกว่าอาคารสำนักงานในย่านถนนสาธรหรือบริเวณใกล้เคียงที่เริ่มต้นถึง 400 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนขึ้นไป และมีการรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯและผู้ถือหุ้น ตลอดจนบันทึกในบัญชีงบดุลมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว
"การกล่าวหาในเรื่องนี้ เพื่อต้องการให้ตนและพี่น้องในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ถูกขึ้นบัญชีดำหรือแบล็คลิสต์ โดยมีวัตถุประสงค์ไม่ให้เข้าบริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นเวลาอีกหลายปี จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาคดีให้ถึงที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการกลั่นแกล้งจากรัฐบาลทักษิณ โดยผ่านองค์กร ก.ล.ต.และตำรวจดีเอสไอในยุคพล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดี โดยเฉพาะล่าสุดกรณีที่พล.ต.อ.สมบัติ ได้ทำหนังสือลับจากดีเอสไอ เลขที่ ยธ 0800/111 ออกเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2548 แจ้งไปยังก.ล.ต.เพื่อแต่งตั้งพนักงานจากก.ล.ต.เข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว หลังจากนั้นดีเอสไอจะส่งเรื่องให้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อนุมัติให้เป็นพนักงานสอบสวน ทั้งๆ ที่การกระทำดังกล่าวเป็นการสวนทางกับหลักการปฎิบัติในกระบวนการยุติธรรม เพราะก.ล.ต.เป็นผู้กล่าวหาตนและพี่น้องตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ และการกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบทางราชการ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกระบวนการยุติธรรม โดยให้แต่งตั้งผู้กล่าวหาเป็นพนักงานสอบสวนคดีด้วย"นายประชัยกล่าวทิ้งท้าย