ผมดีใจที่เราคนไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นแนวทางตามพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยเราทุกคน และเช่นเดียวกับทุกๆเรื่อง กระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจของเราแต่ละคนก็อาจมีความแตกต่างกันไป และวิธีที่ดีที่สุด คือการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และความเข้าใจแก่กันและกัน
ผมได้รับแรงบันดาลใจให้เปิดหาข้อมูลว่า เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร จึงได้เปิดเว็บไซต์http://www.sufficiencyeconomy.org/detail.swf และได้พบความหมายในหน้าแรกดังนี้
“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”
ผมชอบความหมายที่ว่า ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล
ความพอประมาณ คือ ความหมายที่ชัดเจนซึ่งเราก็ได้พูดคุยกันมาแล้วพอสมควร เช่น การใช้จ่ายพอตัว การไม่สร้างภาระหนี้เกินตัวในอนาคตเพียงเพื่อการบริโภคเกินตัว การไม่หลอกตัวเองว่ามีรายได้สูงเกินจริงอันทำให้ใช้จ่ายเกินตัว ฯลฯ
ความมีเหตุผล คือ หลักสำคัญยิ่งสำหรับชีวิตเราในทุกๆเรื่อง โลกเราถูกสร้างมาอย่างมีเหตุผลอย่างดี ร่างกายของเรา อวัยวะต่างๆของเราก็ถูกสร้างมาอย่างดีและมีเหตุผล ผมยังชอบใจกับที่มีผู้บอกว่า “ดีนะ ที่คนเราถูกสร้างมาให้มี 1 ปาก 2 หู ขนาดอย่างนี้ คนยังมักจะพูดกันมากเกินไป ฟังกันน้อยกันไปเช่นนี้ ถ้าเรามี 2 ปาก 1 หู ไม่รู้ว่าใครจะฟังคนอื่นบ้าง”
การยึดหลักว่า ความพอเพียง คือ ความมีเหตุผลด้วย ก็น่าจะทำให้เราไม่ตีความอย่างขาดเหตุผล เช่น เศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า คนไม่ควรหวังก้าวหน้าเติบโตหรือไม่ ?
ผมว่าคนเราทุกคนถูกสร้างมาให้มีการเติบโต ถ้าเราเป็นเด็กแบเบาะตลอดไป มนุษย์คงสูญพันธุ์ไปแล้ว ถ้าเราเรียนชั้นประถม แล้วหยุดเพียงเท่านั้น ก็คงขาดความเจริญ
ความก้าวหน้าเป็นพรสำคัญสำหรับมนุษย์ แต่ที่สำคัญคือ ความก้าวหน้าที่น่ายินดี คือความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ถ้าเราภาคภูมิใจต่อการทำงานได้เก่งขึ้น ดีขึ้น เร็วขึ้น มากขึ้น หรือต้นทุนต่ำลง ชีวิตก็มีรสชาติ มีคุณค่า น่าชื่นชมยินดี แต่ถ้าเราอยากได้แต่ เงิน-เงิน-เงิน มากขึ้น ใจจะเป็นทุกข์
ถ้าเราปฏิเสธความก้าวหน้า เราก็จะหยุดเฉย ขาดการพัฒนา ดังในนิยามความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ที่รวมถึง “ความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน” เราหยุดความก้าวหน้าของคนอื่นไม่ได้ หากชาวจีน ชาวเวียดนาม ชาวอินเดียเขาพัฒนา จนสามารถผลิตสินค้า และบริการได้คุณภาพที่ดี ปริมาณสูง รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ เราจะแข่งขันไม่ได้ ถ้าจะขายได้ ก็ต้องลดราคาลงมา จึงทำให้เราไม่สามารถจะหวังได้ว่า ถ้าเราอยู่กับที่ แล้วจะมีเหมือนๆเดิม อยู่ได้เหมือนๆเดิม ความจริงก็คือ หากเราอยู่กับที่ ไม่พัฒนา จะเท่ากับว่า เราต้องถอยหลังตามธรรมชาติ
ผมไม่อยากให้สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของการแข่งขันทำให้เรารู้สึกว่า “จริงแล้วที่โลกนี้เป็นทุกข์ หรือชีวิตนี้เป็นทุกข์” ผมขอย้ำอีกครั้งว่า โลกใบเดียวกันนี้ มองว่าสุขก็สุข มองว่าทุกข์ก็ทุกข์
ในโลกแห่งการพัฒนา เรามองโลกอย่างเป็นสุขได้ เราจึงไม่ต้องหาบน้ำเหมือนบรรพชนของเรา เรามีน้ำประปาถึงบ้าน เรารับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงบ้านด้วยทีวี และไฟฟ้า เรามีสบู่ ยาสีฟันอย่างสะดวก ไม่ต้องทนกลิ่นปาก และการรักษาสุขภาพของเราก็ดีขึ้น ฯลฯ เพียงแต่การอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง คือการใช้ทรัพยากรแต่พอเพียง ไม่ใช่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่รักษาแหล่งน้ำ สร้างขยะมากมายที่ย่อยสลายไม่ได้ ฯลฯ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนมีเพิ่มขึ้นมากมาย การยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงสำคัญยิ่งเพื่อความสงบสุขแท้ที่เพียงพอและยั่งยืน
เศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่ขัดกับความก้าวหน้า และการพัฒนา เพียงแต่ขอให้พอประมาณ และสมเหตุสมผลครับ
มนตรี ศรไพศาล(montree4life@yahoo.com)