xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจพอเพียง 3 : GDP ก็ช่วยวัด GDH ได้ ถ้า ...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เริ่มเป็นที่พูดกันมากขึ้นว่า GDH (Gross Domestic Happiness : ความสุขมวลรวมประชาชาติ) เป็นเครื่องมือวัดที่สำคัญยิ่งกว่า GDP (Gross Domestic Products : ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม GDH ยังยากที่จะวัดเป็นตัวเลขได้อย่างแท้จริง GDP จึงช่วยวัดได้ด้วย ถ้า..เราเข้าใจหลักความจริงหลายๆเรื่องตรงกัน ดังนี้

1. เงินไม่ใช่เป้าหมายในชีวิต ความสุขแท้ต่างหาก คนเราถูกสร้างมาอย่างดีด้วยความรัก เพื่อให้มีความสุข แต่เราควรเข้าใจให้ชัดเจนว่า มีเงินมากไม่ได้หมายความว่าเป็นความสุข ผมจึงไม่ค่อยนิยมนักสำหรับพร “ขอให้รวยๆ” ผมว่าถ้าใจเราถูกหลอกว่า เงินเท่านั้นที่ทำให้มีความสุข เราจะยังมีความทุกข์ เพราะ ด้วยความคิดเช่นนั้น ยากที่เราจะรู้สึก “พอเพียง” และมีหลักการอยู่ว่า

... คนรักเงินย่อมไม่อิ่มเงิน และคนรักสมบัติไม่รู้จักอิ่มกำไร นี่ก็อนิจจังด้วย

... เมื่อของดีเพิ่มพูนขึ้น คนที่เป็นเจ้าของทรัพย์จะได้ประโยชน์อะไร นอกจากจะได้ชมเล่นเป็นขวัญตาเท่านั้น

... การหลับของกรรมกรก็ผาสุกไม่ว่าเขาจะได้กินน้อยหรือได้กินมาก แต่ความอิ่มท้องของคนมั่งมีก็ไม่ช่วยเขาให้หลับ

2. มีเงินก็ดีถ้าเงินอยู่ในมือ แต่อย่าให้เงินอยู่ในใจ คนเราอาจได้รับพระพรมากมาย แต่อย่าหลงไปกับเงินจนหลุดไปจากทางชอบธรรม “ด้วยว่าการรักเงินทองนั้นเป็นมูลรากแห่งความชั่วทั้งมวล และเพราะความโลภนี่แหละ จึงทำให้บางคนห่างไกลจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์” เงินอยู่ในใจ จึงทำให้มีแต่ทุกข์เพราะไม่รู้จักพอ

แต่เงินอยู่ในมือ ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง สร้างคุณค่าให้คนอื่น ด้วยความสุจริต เป็นสิ่งที่ดี คนเรามีความสุขได้จากสิ่งของต่างๆที่หลากหลาย อาหาร ที่พักอาศัย การรักษาพยาบาล สบู่ ยาสีฟัน การศึกษา การท่องเที่ยว ฯลฯ ต้องยอมรับเหมือนกันว่า หลายๆอย่างนั้น มีก็ดีกว่าไม่มี เพียงแต่มีมากมีน้อย หากมีความพอเพียง เราก็เป็นสุขได้เสมอ

หลักเศรษฐศาสตร์ตั้งอยู่บนความจริงข้อหนึ่ง คือ เราผลิตได้มากขึ้น หากเราทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นปริมาณมากจนเกิดความเชี่ยวชาญ และเกิดความประหยัดจากขนาดการผลิต มนุษย์เราไม่ได้ถูกสร้างให้อยู่คนเดียว เราจึงมีกันและกัน พึ่งกันและกัน เป็นดังอวัยวะของกายเดียวกัน เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน อุตสาหกรรมต่างๆ แพทย์ อาจารย์ สถาบันการเงิน สร้างประโยชน์แก่กันและกันมากมาย

GDP เป็นเครื่องมือวัดการผลิตรวม ผลผลิตภาคการเกษตรดี หมายความว่า เกษตรกรก็น่าจะมีรายได้ดี ภาคอุตสาหกรรมส่งออกดี ผู้ใช้แรงงาน วิศวกร ก็น่าจะมีรายได้ดี ภาคการท่องเที่ยวดี ผู้ทำงานด้านการท่องเที่ยวก็น่าจะมีรายได้ดี

ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ผู้มีรายได้มากขึ้น ก็ดูจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา ตำราเรียน ความเป็นอยู่ต่างๆ จึงพอจะบอกได้ว่า GDP ช่วยวัด “ความพร้อมในการได้ความสุข” ได้พอสมควร แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้วัด “ความสุข” ถ้าทัศนคติต่อโลกเป็นบวก จึงมีความเพียงพอ และจะมีความสุขที่แท้จริง

3. มีเงินมาก อาจวัดโอกาสที่มีความสุขได้มาก GDP ก็ช่วยวัด GDH ได้ ถ้า ...

เป็นตัวเลขจริง : คนบางคนวาดตัวเลขเองให้สวยอย่างใจ แล้วก็ใช้จ่ายเกินตัว ก็ไม่เป็นความสุขแท้ ระดับประเทศหากมีความพยายามสร้างตัวเลข หลังๆได้ยินรายได้ประชาชาติเพิ่มจากเท่าไรเป็นเท่าไร โดยไม่หักอัตราเงินเฟ้อ ก็เป็นการพูดให้เข้าใจผิดว่ารายได้ดีเกินจริง เพราะการที่ข้าวของ น้ำมันราคาแพง รายได้สุทธิก็ลดลง หากไม่อยู่บนตัวเลขจริง ก็นำไปสู่การใช้จ่ายเกินตัว ไม่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้

ไม่ใช่สร้างภาระในภายหน้ามากเกินไป : การบริโภคโดยกู้เงินเป็นภาระของอนาคต ก็ทำให้เราเพิ่มปัญหาของเราในอนาคตได้ ระดับประเทศ การสร้างภาระหนี้ และซ่อนภาระหนี้สำหรับคนรุ่นหลังก็เป็นสิ่งที่คนรุ่นนี้ที่มีความรับผิดชอบต่อคนรุ่นหลังไม่ควรทำ (เว้นแต่เมื่อต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแรง)

ไม่ใช่จับจ่ายจากการขายสมบัติออกไปเรื่อยๆ โดยไม่สะสม : หากคนเราไม่รู้จักออม สะสมสมบัติไว้ใช้ยามจำเป็น มีสมบัติเท่าไร ก็ขายไปใช้จ่ายเสียหมด อนาคตก็จะลำบากได้ ระดับประเทศ หากเราขายสมบัติชาติออกไปเพียงเพื่อการบริโภคในยุคนี้ โดยไม่สะสมสมบัติใหม่เพิ่มเติม ก็อาจเป็นการเอาเปรียบคนรุ่นหลังได้

ไม่ใช่กระจุกตัว : GDP วัดยอดรวมรายได้ประชากรทั้งประเทศ จึงยังไม่ได้ บอกว่า คนส่วนใหญ่มีรายได้สูงจริง หากโครงสร้างรายได้กระจุกตัวในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะหากการกระจุกตัวนั้น มิได้เกิดจากการสร้างสรรค์ประโยชน์ไปแลกมา แต่เป็นการใช้ความทุจริตเอาเปรียบผู้อื่นมา ก็ไม่สะท้อนว่ารายได้คนส่วนใหญ่ดีจริง

ที่สำคัญที่สุด ยังกลับมาที่เรื่องจิตใจ และทัศนคติวิธีคิดในชีวิต เวลาเราวิเคราะห์ประเทศที่รายได้สูงๆ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกัน ก็อย่าถือว่าเขาสุขกับวัตถุ ทุกคนที่เขาสุขได้เพราะเขาพอ และมีความรักกับคนรอบข้าง และเวลาเราวิเคราะห์ประเทศที่รายได้น้อย เช่น ภูฐาน ที่เขามีความสุขได้ ก็เพราะเขาพอเช่นเดียวกัน หวังว่าเราจะไม่สับสน เมื่อเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่มีวัตถุมากๆจึงมีความสุข แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ต้องมีน้อยๆจึงมีความสุข เป็นเพียงการดูแต่ภาพภายนอก จริงๆแล้ว มีมากก็ดี มีน้อยก็ดี ขอให้เพียงพอ มองโลกในแง่ดี และดำเนินชีวิตอย่างสุจริต ก็มีความสุขครับ

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com)

กำลังโหลดความคิดเห็น