xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจพอเพียง 2 : ช่วย “รากแก้ว” ให้เข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมนตรี ศรไพศาล
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เราเห็นคุ้นตา คือ การที่พระองค์ทรงลงพื้นที่การเกษตร ทรงแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้แก่เกษตรกร ทรงสอนวิธีทำมาหากินต่าง ๆ รวมถึงการปลูกพืชการเกษตร เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นในบางพื้นที่ โครงการประเภทงานศิลปาชีพ สมเด็จพระราชินีก็เป็นเช่นเดียวกัน

การสอนให้ชาวบ้านมีความเข้มแข็ง เห็นคุณค่าของการทำงานที่สร้างสรรค์ หารายได้ ใช้จ่ายพอตัว คือ “หัวใจ” ของ “เศรษฐกิจพอเพียง”

เราอบรมลูกก็อยากให้ลูกพร้อมที่จะทำงานเพื่อสร้างรายได้ และรู้จักใช้จ่ายภายในขอบเขตของรายได้ที่หาได้อย่างพอเพียง ซึ่งต้องยอมรับว่า ยากกว่าสอนลูกให้ใช้เงิน สนุกสนานกับของเล่นหรือวัตถุสิ่งของมากมายนัก

ผมเคยซื้อของเล่นให้ลูกๆ และต้องคอยกำชับว่า ถ้าเรามีความสุขเฉพาะเมื่อมี “ของ” หรือได้เล่น “ของ” แต่พอเราไม่มี หรือไม่ได้เล่น “ของ” เราก็เป็นทุกข์ ผมจะบอกว่า เราไม่ใช่ “เจ้าของ” ของนั้นแล้ว เรากำลังกดตัวเองลงไปเป็น “ทาสของ” ของนั้นแล้ว

ถ้าเราเป็น “เจ้าของ” ของนั้นจริงๆ เมื่อมี หรือได้ หรือได้เล่น ของเหล่านั้น ก็มีความสนุก หรือมีความสุขได้ เมื่อ ไม่มี หรือไม่ได้ หรือ ไม่ได้เล่น ก็ต้องมีความสุขได้เช่นเดียวกัน นั่นคือความรู้สึก “พอเพียง” กับการจับจ่าย

เราอาจโชคดีกว่าลูกๆของเรา เพราะในยุคเรา พ่อแม่ทำงานหนักอยู่ที่บ้าน เรามีโอกาสได้ช่วยเหลืองานพ่อแม่หลายอย่าง จดสินค้า หยิบสินค้า บรรจุสินค้า ขนสินค้าไปส่ง จัดของในร้าน นับสต็อก ทำบัญชี ฯลฯ ทำให้เราเรียนรู้ที่จะทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูตัวเราเองและครอบครัว

เมื่อเรามีลูก แต่ฐานะของเราดีขึ้น และเราก็ไม่ได้ทำงานที่บ้าน ก็ยากที่จะสอนเขาให้ได้ประสบการณ์ตรงๆ ก็ยังเคยได้ทำเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ช่วยงานบางอย่าง

และยังอยากสอนให้ลูกรู้ว่า ในสถานการณ์บางอย่างที่ลำบากนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะสุขใจได้

ลูกผมเกิดมาได้นอนห้องนอนที่มีเครื่องปรับอากาศตั้งแต่เกิด ผมจำได้ว่าในรุ่นที่ผมเป็นเด็ก ผมก็เป็นคนขี้ร้อน (เป็นสำนวน) ต้องอาศัย แป้งน้ำ แป้งเย็น จึงทำให้นอนได้ แต่เมื่อมีโอกาส ก็อยากให้ลูกไปร่วมค่ายคริสเตียนที่ต่างจังหวัด เขาได้มีโอกาสนอนกางมุ้ง ไม่มีเครื่องปรับอากาศในค่ายทหารบ้าง เราก็ได้ทำหน้าที่ให้กำลังใจ จนเขาเองก็เรียนรู้ที่จะยอมรับ และมีความสุขได้

ลูกมีความเข้มแข็งเพียงไร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ลูกจะได้ทรัพย์สมบัติอะไร เพราะความเข้มแข็งจะบอกถึงอนาคตของเขา ว่าเขาจะสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้เพียงใด และที่สำคัญ เขาจะมีความเข้มแข็งที่จะมีความสุขในชีวิตด้วยการใช้ชีวิตที่มีความ “พอเพียง” ในชีวิตเสมอได้หรือไม่? การให้มีสมบัติต่างๆ หลายๆครั้งจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว และเมื่อลูกใช้มันหมดไป ก็ต้องการอีก โดยจะไม่ทำให้ลูกมีความสุขอย่างยั่งยืน

ในการบริหารบ้านเมือง จึงน่าจะเดินตามรอยพระบาทพ่อหลวงของแผ่นดิน เน้นที่การสนับสนุนให้ประชาชนเข้มแข็ง ทั้งด้วยการกระทำด้วยโครงการต่างๆ และการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือการหาเสียงเพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องให้กับประชาชน

ผมว่าดีแล้วที่ให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้ตัวว่า มีความสำคัญยิ่งเป็น “รากแก้ว” ของประเทศ ไม่ใช่พยายามให้รู้สึกว่า เป็นเพียง “รากหญ้า” ที่ถูกดูแคลน หรือถูกละเลย และต้องได้รับการช่วยเหลือมากมาย

ความภาคภูมิใจ ความตระหนักถึงความรักความปรารถนาดีที่มีต่อกันเสมอจะทำให้จิตใจเข้มแข็ง บ้านเมืองมีความรักความสามัคคี และความช่วยเหลือตามแนว “เศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็นหนทางที่เต็มไปด้วยความรักและความจริงใจที่แท้จริง เพื่อให้ประชาชน “รากแก้ว” เข้มแข็งจริงๆ พึ่งพาตนเองได้ ทำให้ไม่ต้องรอแค่การพึ่งพานักการเมือง หรือ รัฐบาล ซึ่งอาจได้บ้างไม่ได้บ้าง และอาจทำให้ประชาชนยังไม่เข้มแข็งพึ่งตนเองได้เสียที

เลิกได้แล้วครับ ประเภทไปสร้างความหวังว่า ประชาชนย่อมหวังพึ่งรัฐบาลที่จะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือ ออกจะเป็นการดึงรั้งไม่ให้ประชาชนเข้มแข็ง เพียงเพื่อให้ได้อำนาจมาโกยผลประโยชน์ส่วนตนเสียมากกว่า

ถ้ารักประชาชนจริง ก็ควรรักเหมือนรักลูก ต้องการให้ลูก “เข้มแข็ง” และ “พอเพียง” มากกว่าเพียงให้ลูกรอคอยความช่วยเหลือจากพ่อแม่ตลอดไปครับ

ผมดีใจที่มีการให้รางวัลโนเบลกับทางประเทศบังคลาเทศที่ได้ทำโครงการธนาคารประชาชน ตอนผมเป็นกรรมการธนาคารออมสินเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว เราก็เคยศึกษาและเรียนรู้เพื่อปฏิบัติตาม สิ่งสำคัญในเชิงผลงาน ไม่ใช่เพียงปล่อยกู้ชาวบ้านได้ง่ายๆ หรือได้มากๆ แต่เป็นการจัดวิธีปล่อยได้มาก ด้วยความสัตย์ซื่อ สุจริต และระวังจนทำให้เก็บคืนได้มาก จนเขามีอัตราเก็บหนี้คืนได้สูงมาก ผมเพียงแต่ไม่อยากเห็นใครเอาเรื่องนี้ไปหาเสียงผิดๆ เช่นว่า ประชาชนควรกู้เงินได้ง่ายๆ ไม่ต้องดูอะไรเลย ซึ่งอาจเป็นทิศทางที่ทำให้ประชาชนไม่เข้มแข็งอีกครับ

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น