xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจพอเพียง 1 : เพื่อความ "ก้าวหน้า" ที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทยเราน่ายินดีที่ได้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่มั่นใจว่า “ไหว้ได้” อย่างสนิทใจ

เรากำลังพูดถึงเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” กันอย่างคึกคัก ผมเป็นคนหนึ่งที่ถือว่า ความพอเพียงคือความเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้านจิตใจและจิตวิญญาณ ความพอเพียงคือความรู้สึกว่าโลกนี้ดี ชีวิตนี้แสนดี ก็จะมีชีวิตที่เป็นสุข

ผมได้พยายามหาว่า “พอเพียง” หมายถึง “ไม่ใช่” อะไร ? ผมเชื่อมั่นว่าความพอเพียง หมายถึง ไม่ใช้เงินเกินตัว ไม่สร้างภาระแก่ตนเองและลูกหลานในอนาคตเกินตัว นั่นเอง

บางคนในวงการตลาดทุน ถึงกับเป็นห่วงว่า การใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” อาจเป็นความคิดแนวเก่า จะทำให้เศรษฐกิจไม่โต จะไม่ก้าวหน้า ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เศรษฐกิจจึงก้าวหน้า

ผมกลับเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียง ก็ก้าวหน้าได้ โครงการ Eastern Seaboard ก็จุดความหวังสว่างไสวให้แก่ประเทศไทยกว่า 20-30 ปี ก็เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงสมัยรัฐบาลป๋าเปรม การบริหารงานขององค์กรชั้นนำของประเทศเช่น เครือซิเมนต์ไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ก็มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง มีการบริหารการเงินอย่างชาญฉลาด มีการกู้เงินในระดับที่เหมาะสม (สมัยผมอยู่ปูนซิเมนต์ไทย เห็นนโยบายการกู้เงินอยู่ในระดับประมาณ 2-3 เท่าของทุน)

หลักคุณธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานในวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้รวมถึง การยึดหลักเหตุผล และการมุ่งประโยชน์ของกันและกัน

ผมเชื่อว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือการไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่กู้เงินเกินกำลัง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมได้เห็นตัวอย่างของการใช้เงินเกินตัว ด้วยการซ่อนหนี้ (จริงๆ ผมไม่อยากย้ำแล้ว แต่เพื่อให้เห็นภาพตรงกัน) เช่น การสะสมตั๋วเงินคลัง ซึ่งคล้ายๆ O.D. ของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นถึงประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ก็เป็นภาระสำหรับรัฐบาลอนาคต การขายสมบัติของชาติให้กองทุนวายุภักษ์ หรือการก่อหนี้กองทุนศูนย์ราชการ หรือกองทุนน้ำมันโดยมีความพยายามซุกซ่อนหนี้ไว้ ก็สร้างภาระกับประชาชนในอนาคตอีกร่วม 2 แสนล้านบาท สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ไม่ใช่ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งควรได้รับการแก้ไข

แต่การค้าระหว่างประเทศ ยังควรเดินหน้า โลกเราพึ่งกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าเราผลิตข้าว ยางพารา อาหาร ประกอบรถยนต์ ประกอบสินค้าอิเลคโทรนิคส์ได้ดี (ซึ่งดีมากแล้วนับสิบๆ ปี) เราไม่ควรเข้าใจว่า ไม่ควรทำเพราะทำให้ต้องพึ่งพาต่างชาติ การพึ่งพากันในโลกไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราได้รับประโยชน์ในการส่งออกสินค้าบางอย่างก็ควรส่งออก เราได้ประโยชน์จากการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเราก็ควรสนับสนุนต่อไปในฐานะ “สยามเมืองยิ้ม” ที่เราภาคภูมิใจ

เรานำเข้าสินค้าบางอย่างเช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยา ตำราเรียน ฯลฯ ก็เป็นประโยชน์กว่าทำเองก็ควรทำ เพียงแต่ในระดับของเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ พยายามให้แน่ใจว่า ในระยะยาวเรารักษาดุลการค้าและดุลบริการได้

การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติก็เป็นประโยชน์ ไทยเราก็มีเศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างมากมายาวนาน ด้วยการลงทุนจากต่างชาติ อุตสาหกรรมดีๆ เช่น การประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคส์ ฯลฯ ก็ทำให้คนไทยเรามีงานดีๆ ทำได้ หลังจากจีนปิดประเทศมานาน เมื่อเปิดรับทุนต่างประเทศ ก็ทำให้เศรษฐกิจได้ก้าวหน้าอย่างดีมาอย่างต่อเนื่องนับสิบปี

การรณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง จึงมิจำเป็นต้องปฏิเสธการเติบโตแต่อย่างใด เพียงไม่หวังและไม่ใช้เงินเกินตัว

เราส่วนใหญ่ก็ได้รับการปลูกฝังจากผู้ใหญ่ให้รู้จักพอเพียง อย่าโลภเกินตัว ซึ่งเป็นหลักประกันแห่งความสุขแท้ในชีวิต แต่เราก็ยังยินดีกับความเติบโตก้าวหน้า ยินดีที่ใช้จ่ายอย่างภาคภูมิใจจากรายได้ที่ได้มาด้วยความสุจริต และด้วยความอุตสาหะ แต่เราไม่ยินดีกับการใช้จ่ายที่เกินรายได้ หรือมาจากการสร้างภาระหนี้ในอนาคตจนเกินกำลัง

ในระดับบริษัท เราก็อยากเห็นบริษัทเติบโตบนความจริง โดยไม่เสี่ยงสร้างภาระกู้เงินเกินกำลัง บางบริษัทเบ่งรายได้ ซ่อนรายจ่าย ซ่อนภาระหนี้ ก็เข้าข่ายหุ้นปั่นที่ขาดคุณภาพด้านปัจจัยพื้นฐาน เราอยากเห็นบริษัทที่บริหารงานอย่างพอเพียง ไม่กู้เงินเกินตัว และหวังให้บริษัทเติบโตอย่างจริงจังยั่งยืนมากกว่าการโตอย่าหวือหวากลวงๆ

ในระดับชาติ เราก็อยากให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ใช้เงินเกินตัว ไม่ใช้เงินจากหนี้ที่ซ่อนไว้ให้เป็นภาระกับคนรุ่นหลัง เพียงเพื่อให้แสดงตัวเลขการเติบโตของจีดีพีสวยๆ โดยไม่สะท้อนรายได้ที่แท้จริง เราย่อมยังอยากเห็นตัวเลขจีดีพีเติบโต แต่ต้องเป็นตัวเลขตามปัจจัยพื้นฐานจริงๆ ซึ่งสะท้อนความสามารถและรายได้แท้จริงของประชาชน

ผมเชื่อว่าถ้าเรายึดมั่นในหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างมีเหตุผล อย่างถูกต้อง มุ่งประโยชน์ต่อกันและกันและส่วนรวม การเมืองไทยก็ใกล้ความฝันแล้ว และเศรษฐกิจไทยจะก้าวหน้ายั่งยืนครับ

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น