xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียน “ความหวังของชาวไทย” จากภาพยนตร์เรื่อง Gung Ho

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันโลกเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขันของคนไทยในเวทีโลกท้าทายขึ้นตลอดเวลา ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง Gung Ho เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ของอเมริกาซึ่งสร้างขึ้นในช่วงปี 1986 ในยุคที่ญี่ปุ่นรุ่งเรืองจนเข้าครอบครองกิจการมากมายในสหรัฐอเมริกา ผมอยากชวนให้เรามองกันว่า ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาอับจนถดถอยเช่นนั้น เขาพยายามให้บทเรียนกันเองอย่างไร ?

ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่อเมริกา ทุกอย่างในเมืองๆหนึ่งย่ำแย่ลง โรงงานต่างๆต้องทยอยปิดตัวไป รวมถึงโรงงานผลิตรถยนต์ซึ่งเป็นหลักที่ทำให้ผู้คนมีงานทำ และมีเงินจับจ่ายกันในเมืองนี้ก็ต้องปิดตัวลงด้วย

ฮันต์คือตัวแทนคนงานของชาวอเมริกันที่จะบินไปญี่ปุ่น เพื่อชักชวนนักธุรกิจที่นั่นให้มาลงทุนซื้อกิจการ การเจรจาประสบความสำเร็จ บริษัทญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะซื้อกิจการและเปิดดำเนินการผลิตต่อ จึงส่งคาซิชิโรมาเป็นผู้จัดการโรงงาน และ ฮันต์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนสหภาพแรงงาน

ปัญหาใหญ่คือ ชาวอเมริกันในขณะนั้น หลงว่าตนเองแน่ ไม่เป็นรองใคร ขี้เกียจ ขาดวินัย ไม่ทำงานเป็นทีม ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายและสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีมในตอนเช้า ก็กลับเห็นเป็นเรื่องเด็กๆ พวกเขาไม่ทำงานให้ได้คุณภาพดีเพียงพอสำหรับลูกค้า และไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้จำนวนตามเป้าหมาย

ผมชอบที่ชาวอเมริกันเตือนสติกันเองว่า “เราเคยภาคภูมิใจว่าเราเป็นสุดยอดของโลก แต่ข่าวร้ายคือ เราตกมาเป็นที่สองแล้ว” เขาแสดงให้เห็นว่า แม้ในการแข่งเบสบอล ชาวญี่ปุ่นร่างเล็กที่จริงจัง มีวินัย เล่นกันเป็นทีมอย่างสามัคคี มีน้ำใจนักกีฬา เล่นตามกติกา ก็ทำได้ดีกว่า

เพื่อให้มีแรงจูงใจดีพอ ฮันต์ได้ยื่นข้อเสนอผลิตรถยนต์ให้ฝ่ายญี่ปุ่น 15,000 คันต่อเดือน แลกกับค่าแรงสูงเหมือนเดิม แต่ในการประชุมสหภาพแรงงาน ฮันต์ไม่ได้บอกความจริงกับคนงานว่า หากผลิตรถยนต์ต่ำกว่าเป้าแม้แต่คันเดียว พวกเขาจะไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มเลย เพื่อนๆเขากลับเข้าใจว่า หากได้สัก 13,000 คันขึ้นไป อย่างน้อยต้องได้เงินเดือนกลับไปสักครึ่งหนึ่ง

ชาวอเมริกันก็เรียนรู้ที่จะทำงานหนักขึ้น และทุ่มเทแบบชาวญี่ปุ่น แต่จนเหลืออีกเพียงหนึ่งวัน เขายังผลิตรถยนต์ได้ไม่ถึง 14,000 คัน เพื่อนๆคนงานก็เพิ่งทราบว่า หากไม่ถึงเป้า 15,000 คัน จะไม่ได้เงินเดือนขึ้นเลย จึงนัดชุมนุมประท้วง เมื่อชาวญี่ปุ่นได้ยินเช่นนั้น ก็ตัดสินใจได้ว่า โรงงานนี้ บริหารงานยากเกินไป ควบคุมพนักงานยากเกินไป จึงตัดสินใจปิดโรงงานเสียเลย เมื่อชาวเมืองทราบข่าวว่าโรงงานนี้จะต้องถูกปิด ก็เสียใจ เพราะกิจการอื่นๆก็มีแนวโน้มจะต้องปิดตามไปด้วย ผู้คนจะตกงานลำบากกันมากมายทั้งเมือง

เช้าตรู่วันสุดท้าย ฮันต์พบคาซิชิโร กำลังกระโดดลงน้ำด้วยความเสียใจ จึงรีบเข้าไปช่วย คาซิชิโรบอกว่า “เขาเสียใจที่ในที่สุด เขาไม่สามารถบริหารโรงงานได้ตามเป้าหมาย ลูกน้องไม่ประสบความสำเร็จ เมืองนี้ต้องตกงานกันทั่วไป” ฮันต์ก็บอกว่า “มองดู ก็ได้ทำมามากทีเดียว เสียดายที่ อีก ‘นิดเดียว’ ก็สำเร็จแล้ว” แล้วเขาทั้งสองก็เห็นตรงกันว่า อยากได้ “โอกาสอีกครั้ง”

ทั้งคู่จึงเดินเข้าโรงงานซึ่งถูกปิดไปแล้ว ให้เปิดออก ทุกคนเริ่มมองเขาอย่างแปลกใจว่า จะเข้าไปทำไม คนงานก็ยังไม่พอใจ เจ้าของโรงงานก็ไม่พอใจ และถึงอย่างไรก็ไม่สามารถผลิตให้ครบ 15,000 คันในวันเดียว แต่ทั้งสองก็ยังพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ยังทำได้ พวกเขาจึงประกอบรถกันเองต่อไป

เพื่อนๆแอบมองเข้าไป ก็ยังหัวเราะว่าจะเป็นไปได้อย่างไร กำลังประจบเอาใจนายญี่ปุ่นเพื่อ “รักษางาน” ของตัวหรือเปล่า แต่เพื่อนคนหนึ่งก็เริ่มตั้งข้อสังเกตุว่า เขาไม่ได้กำลังรักษางานของตัว แต่เขากำลัง “รักษาเมืองๆนี้” ไว้ต่างหาก

ทุกคนจึงร่วมแรงร่วมใจ วิ่งเข้าไปในสายการผลิต ไฟถูกเปิดออกทั้งโรงงาน ทุกคนเร่งทำงานกันอย่างสุดชีวิต นายช่างญี่ปุ่นถอดเสื้อขาว ลงไปลุยในสายการผลิตด้วย เร่งทำจนประสบความสำเร็จ โรงงานไม่ต้องถูกปิด และเมืองนี้ก็กลับมามีเศรษฐกิจดีดังเดิมและเติบโตต่อไป

ผมชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มาก ทุกคนมุ่งพัฒนาตนเอง ขณะที่ชาวอเมริกันเรียนรู้ที่จะทำงานหนักขึ้น มีวินัย จริงจัง และเข้มแข็งอย่างชาวญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นก็เรียนรู้จะจัดการชีวิตให้สมดุล มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหากับครอบครัวครับ

คนไทยเราล่ะครับ เราพร้อมเรียนรู้อะไร ด้วยหลักการ “เศรษฐกิจพอเพียง” เราไม่พึงหวังที่จะได้รับการสนับสนุนเงินทองกองทุนอะไรง่ายๆ แต่เราควรมุ่งทำงาน แข่งขันได้ และเติบโตได้อย่างพอเพียง คือไม่ใช้เงินเกินตัว หรือสร้างภาระแก่คนรุ่นหลังมากเกินไปครับ

ความสำเร็จที่ยิ่งท้าทาย ก็ยิ่งมีความหมาย ขอเพียงเราไม่ย่อท้อ รักษาความหวังไว้ เราก็จะบรรลุความสำเร็จในที่สุดครับ ผมขอให้คนไทยร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน เพื่อร่วมพัฒนาประเทศของเราเต็มที่ต่อไปครับ

นี่เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องใน วีดีทัศน์ชุด “ความหวัง” เชิญทุกท่านส่งข้อความดีๆ เรื่อง “ความหวัง” ส่งมาที่ montree4life@yahoo.com จะได้ติดต่อส่งให้ท่านต่อไปครับ

มนตรี ศรไพศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น